TH EN
A A A

มกอช. ติดตามข้อกังวลการค้าประเด็นระเบียบยาสัตว์-เชื้อดื้อยา EU

10 มีนาคม 2565   

                 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ติดตามแนวทางประกาศใช้และข้อกังวลจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกต่อการบังคับใช้ชุดระเบียบของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับยาสัตว์และประเด็นการดื้อยาของเชื้อโรค (Antimicrobial Resistance; AMR) ประกอบด้วย Regulation (EU) 2019/4 กฎระเบียบอาหารสัตว์ผสมยา (Medicated feed; MF) และ Regulation (EU) 2019/6 กฎระเบียบผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ (Veterinary Medicinal Products; VMP Regulation) และระเบียบที่ประกาศเพิ่มเติม รวมทั้ง Commission Delegated Regulation (EU) 2021/1760 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การสงวนสารปฏิชีวนะสำหรับรักษาโรคติดเชื้อในมนุษย์ ประกอบด้วย (1) ความสำคัญในฐานะยาทางเลือกสุดท้าย (Last Resort) หรือเป็นยาในกลุ่มที่มีทางเลือกจำกัด (2) ความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา และ (3) ความจำเป็นของการใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์ โดยระเบียบ VMP มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565
                 การประกาศระเบียบและระเบียบย่อยเหล่านี้ ถือเป็นการผลักดันการปฏิบัติตามแผนงาน EU One Health Action Plan against AMR ซึ่งมีวัตถุประสงค์ (1) ให้สหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีแนวทางปฏิบัติด้านเชื้อดื้อยาที่เป็นเลิศ (2) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และ (3) การผลักดันประเด็น AMR เป็นวาระสากล โดยดำเนินยุทธศาสตร์ Farm to Fork strategy เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวเเละกำหนดเป้าหมายสำคัญในการลดการจำหน่ายยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มและสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงในประเทศสมาชิกให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2573 แต่อย่างไรก็ตาม ในวาระการประชุมคณะกรรมการมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ครั้งที่ 82 ที่กำหนดจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 ประเทศสมาชิก WTO ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา,ออสเตรเลีย,บราซิล,เเคนาดา,อุรุกวัยเเละปารากวัย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังสหภาพยุโรป ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นเป็นข้อกังวลทางการค้า เนื่องจากเป็นการบังคับใช้ระเบียบที่ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตและส่งออก ซึ่ง มกอช. จะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและรายงานผลต่อคณะอนุกรรมการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชฯ ต่อไป

ที่มา: กลุ่มความตกลงสุขอนามัยฯ มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?