ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรค แต่มีการใช้อย่างไม่ถูกวิธีในการผลิตปศุสัตว์โดยให้ยากับสัตว์ที่แข็งแรงเพื่อป้องกันโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการพัฒนาสายพันธุ์เชื้อก่อโรคชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ และก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อดื้อยาในมนุษย์ โดยข้อมูลพบว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อก่อโรคดื้อยาถึงราว 700,000 คน และเฉพาะในสหภาพยุโรปก็มีความสูญเสียทั้งระบบประมาณปีละ 1,500 ล้านยูโร ที่ประชุมผู้นำนานาชาติจึงร่วมกันเรียกร้องให้ยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่แข็งแรงโดยเร็วเพื่อเป็นการยุติความสูญเสีย โดยภาครัฐของแต่ละประเทศจะต้องมีมาตรการและการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในส่วนของผู้ผลิตก็ควรปรับกระบวนการ ส่งเสริมสุขอนามัยเพื่อให้สัตว์มีสุขภาพดีแทนการใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรค และผู้บริโภคเองก็สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการผลิต เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตปรับตัวในอีกทางหนึ่ง
ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาเชื้อก่อโรคดื้อยาได้จากวารสาร Early Warning https://warning.acfs.go.th/th/e-magazine/?page=59#book/page1
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.