วิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกหรือภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนั้น นอกจากผลของอุตสาหกรรมและการคมนาคมแล้ว เกษตรกรรมก็มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รายงานล่าสุดจากโครงการความร่วมมือของสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (https://www.ipcc.ch/srccl/) ชี้ให้เห็นว่าภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนที่ปลดปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกชนิดหนึ่งที่รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านการผลิตทางปศุสัตว์และการปลูกข้าว ซึ่งสำหรับภาคปศุสัตว์นั้น ปัจจุบันได้มีความพยายามพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์จากห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการใช้จุลินทรีย์ดัดแปรพันธุกรรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นม ซึ่งหากสำเร็จสู่ท้องตลาดอย่างแพร่หลาย นอกจากจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วยังจะได้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ปลอดภัยขึ้น เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการเลี้ยงและชำแหละซึ่งอาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคได้ ส่วนการปลูกข้าวหากมีการจัดการลดการท่วมขังของน้ำในนาข้าวอย่างเป็นระบบได้ก็จะช่วยลดการปลดปล่อยมีเทน และอาจลดการสะสมของโลหะหนักลงได้ด้วย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเกษตร และความปลอดภัยอาหารได้จากวารสาร Early Warning https://warning.acfs.go.th/th/e-magazine/?page=62#book/page1
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.