TH EN
A A A

ญี่ปุ่นเตรียมใช้ “ขั้นตอนตามพิธีสารคาตาร์เฮนา" กับเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอจากไทย เม.ย. 65

16 กันยายน 2564   

                กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) มีแนวทางที่จะบังคับใช้ “ขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าและการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตตามพิธีสารคาตาร์เฮนา” สำหรับเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอที่นำเข้าจากไทย เพื่อป้องกันการปะปนของเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งครอบคลุมทั้งการนำเข้าเป็นสินค้า cargo การนำติดตัวเข้าประเทศ  และการจัดส่งทางไปรษณีย์ โดย MAFF คาดว่าจะบังคับใช้ขั้นตอนฯ สำหรับเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอที่นำเข้าจากไทยในช่วงเดือนเมษายน 2565 ซึ่งจะมีการประกาศแจ้งเวียนผ่าน WTO-SPS ก่อนดำเนินการ ในเบื้องต้นมีขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าและการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตตามพิธีสารคาตาร์เฮนา ดังนี้
     1. ผู้นำเข้าจัดซื้อเมล็ดพันธุ์หรือตันกล้าของพืชที่บังคับให้ปฏิบัติตามขั้นตอนฯ
     2. ผู้นำเข้ากรอกแบบฟอร์มและยื่นเอกสารขอนำเข้าล่วงหน้าก่อนนำเข้า 10 วัน (แบบฟอร์มเป็นภาษาญี่ปุ่น) ระบุชื่อ วัตถุประสงค์ในการนำเข้า แหล่งที่นำเข้า ชื่อท่าอากาศยานหรือท่าเรือพร้อมวันที่จะนำเข้า ปริมาณที่นำเข้า ฯลฯ
     3. กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นออกคำสั่งเกี่ยวกับการสั่งตรวจ (Order Inspection) และการเก็บรักษา โดยจะส่งคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้นำเข้า
     4. ผู้นำเข้าติดต่อห้องปฏิบัติการที่รับตรวจสอบการดัดแปรพันธุกรรม โดยห้องปฏิบัติการจะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาสุ่มเก็บตัวอย่างและนำไปตรวจสอบ (ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการจำนวน 3 แห่ง ในจังหวัด Kanagawa และ Fukuoka ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบประมาณ 38,000 - 50,000 เยนต่อ 1 กรณี)
     5. กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นแจ้งผลการตรวจสอบ
     6. ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าได้หากผลการตรวจสอบยืนยันว่าไม่มีการปะปนของการดัดแปรพันธุกรรม กรณีตรวจพบการดัดแปรพันธุกรรมที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติผู้นำเข้าจะต้องทำลายพืชดังกล่าว

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (เข้าถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2564) https://www.maff.go.jp/e/index.html สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?