รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2564 เกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายกำกับดูแลเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชแนวใหม่ (new plant breeding techniques: NPBT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ผ่านการตัดแต่งในพันธุกรรมของพืชชนิดนั้นโดยไม่ต้องเติมแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นร่วมด้วย โดยให้ความเห็นว่าการกำกับดูแลพืชที่ใช้เทคโนโลยี NPBT หรือ Genome Editing ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้เองในสิ่งแวดล้อม ควรใช้แนวทางที่แตกต่างจากการกำกับดูแลพืชดัดแปรพันธุกรรมที่มีการตัดต่อสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่น
ก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2563 ศาลสูงสุด Conseil d’Etat ของฝรั่งเศสได้มีคำวินิจฉัยให้รัฐบาลฝรั่งเศสปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสิ่งมีชีวิตโดยผ่านกระบวนการดัดแปรพันธุกรรมในลักษณะ in vitro (ในหลอดทดลอง, ห้องปฏิบัติการ หรือนอกร่างกายของสิ่งมีชีวิต) ให้สอดคล้องกับกฎหมายกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมของสหภาพยุโรป ซึ่งจะรวมไปถึงข้อกำหนดให้ประเมินความเสี่ยงสำหรับพืชดัดแปรพันธุกรรมโดยวิธี Genome Editing ให้มีความต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืช (Herbicide tolerance) ในขณะที่กฎหมายปัจจุบันที่กำกับดูแลโดยหน่วยงาน ANSES ไม่ได้กำหนดบังคับให้ต้องประเมินความเสี่ยงของพืชสายพันธุ์ต้านทานเหล่านี้
ฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามปลูกพืช GMO สอดคล้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรป แต่ทั้งนี้ หากกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว จะทำให้พืชดัดแปรพันธุกรรมด้วยกระบวนการ Genome Editing โดยเฉพาะสายพันธุ์ต้านทานที่ไม่ผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงทั้งหมดตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปตามกฎหมาย Directive 2001/18 ต้องถอนรายชื่อจากสายพันธุ์ที่อนุญาตปลูกภายใน 9 เดือน ซึ่งปัจจุบันฝรั่งเศสมีพืชต้านทานสารกำจัดศัตรูพืชที่สำคัญได้แก่ ทานตะวัน (ใช้สายพันธุ์ต้านทานในสัดส่วนประมาณ 20-30%) และเรพซีดสายพันธุ์ Colza (ประมาณ 5%)
ที่มา : AgCANADA, EurActiv และ ANSES สรุปโดย : มกอช.