หลังจากการตีพิมพ์เผยแพร่ผลพิจารณาคณะอนุญาโตตุลาการขององค์การการค้าโลก ในกรณีพิพาทที่อินโดนีเซียไม่เปิดตลาดนำเข้าสินค้าไก่ของบราซิลตามหลักสากล ซึ่งระบุข้อสังเกตของคณะอนุญาโตตุลาการว่ากระบวนการเปิดตลาดดังกล่าวล่าช้าเกินควร รวมทั้งมีการใช้มาตรการทางการค้าที่ขัดต่อความตกลง GATT และความตกลงว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) หลายรายการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ด้านการตลาดของเว็บไซต์ EuroMeatNEWS ได้เผยแพร่ข้อคิดเห็นต่อกรณีเปิดตลาดไก่ของบราซิลไปอินโดนีเซีย ว่ายังคงมีอุปสรรครอบด้าน โดยเฉพาะสถานการณ์ผลผลิตไก่ล้นตลาดในอินโดนีเซียในปัจจุบัน
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ปริมาณไก่เนื้อทั่วประเทศมีมากกว่า 3.5 พันล้านตัว และไก่ไข่กว่า 200 ล้านตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศเพิ่มปริมาณการเลี้ยงอย่างก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในช่วงปี 2553 – 2560 หรือปริมาณการผลิตในประเทศที่เกินกว่าความต้องการบริโภคถึงร้อยละ 17 คิดเป็นปริมาณ 5 แสนตัน ในปี 2562 โดยขณะรัฐบาลอินโดนีเซียเองได้พยายามเข้ามาควบคุมการนำเข้าทั้งเนื้อไก่และแม่พันธุ์เพื่อชะลอการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงในประเทศ รวมไปถึงกำจัดไก่บางส่วนเพื่อที่จะควบคุมราคาเนื้อไก่ให้สมดุล
ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรกว่า 250 ล้านคน การเปิดตลาดสินค้าไก่จากบราซิลไปยังอินโดนีเซียถือเป็นความหวังสำคัญในการขยายตลาดสินค้าเกษตรที่บราซิลมีศักยภาพสูงในการผลิตและส่งออกหลายรายการ โดยเมื่อช่วงต้นปี 2563 บราซิลสามารถเปิดตลาดรายการสินค้าเนื้อโคไปยังอินโดนีเซียได้เป็นผลสำเร็จ
ที่มา : https://euromeatnews.com/Article-Brazil-wins-WTO-dispute-with-Indonesia-on-poultry-exports/4244 สรุปโดย : มกอช.