การหาแหล่งโปรตีนใหม่ทดแทนเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยวิธีดั้งเดิมเป็นความท้าทายหนึ่งที่สำคัญในแวดวงเกษตรปัจจุบัน หนึ่งในทางเลือกที่มีการพัฒนาคือการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cultured Meat) ซึ่งมีความน่าสนใจในการเป็นเนื้อสัตว์ที่เหมือนผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เดิม แต่ใช้ทรัพยากรและก่อให้เกิดมลพิษน้อยลง
แต่งานวิจัยล่าสุดในประเทศออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้บริโภคอาจยังมีข้อกังขาและไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากเซลล์เพาะเลี้ยงเหล่านี้ โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนเจเนอเรชัน Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2538 – 2558) ในออสเตรเลีย พบว่าผู้เข้าร่วม 72% ตอบว่ายังไม่พร้อมรับอาหารที่เป็นเนื้อจากเซลล์เพาะเลี้ยงมาทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์จากกระบวนการผลิตปศุสัตว์แบบเดิม แต่ 41% ของกลุ่มตัวอย่างยังยอมรับว่านี่เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อผลิตอาหารอย่างยั่งยืนต่อไป และกลุ่มตัวอย่างยังมีความเห็นต่างกันอีกว่าเนื้อสัตว์จากเซลล์เพาะเลี้ยงนี้จะเป็นวิธีการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมาะสมกับโลกอนาคตจริงหรือไม่
คนรุ่นดังกล่าวมีประมาณ 2,000 ล้านคนทั่วโลก และจะเป็นประชากรกลุ่มสำคัญของโลกในยุคสมัยต่อไป จึงนับเป็นความท้าทายสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถศึกษางานวิจัยดังกล่าวฉบับเต็มได้จาก https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fnut.2020.00148/full
ที่มา : https://www.foodnavigator.com/ สรุปโดย : มกอช.