โดยปกติแล้วในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่มักไม่นิยมเลี้ยงไก่เพศผู้ เพราะสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่แล้วนั้น ไก่เพศผู้ก็ไม่สามารถให้ไข่ได้ ส่วนสำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่เพศผู้ก็มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าไก่เพศเมียเช่นกัน การเลี้ยงลูกเจี๊ยบเพศผู้จึงไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้มีการกำจัดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้เครื่องบดหรือรม แต่กระบวนการที่ปฏิบัติในปัจจุบันอาจไม่เหมาะสมเมื่อพิจารณาด้านมนุษยธรรมและสวัสดิภาพสัตว์
ล่าสุดรัฐมนตรีเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ออกมาเปิดเผยว่า กระทรวงกำลังผลักดันร่างกฎหมายในประเทศห้ามการกำจัดลูกเจี๊ยบเพศผู้ จากสถิติปัจจุบันที่กำจัดถึงปีละกว่า 45 ล้านตัว โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการพิจารณาใช้เทคโนโลยีการกำหนดเพศไก่ ที่สามารถแยกไข่ที่ไม่ได้รับการผสมและไข่ที่เป็นเพศผู้ไปแปรรูปก่อนจะฟักเป็นตัว ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวขึ้นจริง ผู้ประกอบการในเยอรมนีก็อาจจำเป็นต้องหาวิธีทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงการฆ่าลูกเจี๊ยบเพศผู้ ซึ่งอาจนำไปสู่การนำเข้าเฉพาะลูกเจี๊ยบเพศเมียเข้าสู่กระบวนการเลี้ยงในประเทศได้
ความเคลื่อนไหวที่สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ของเยอรมนีครั้งนี้อาจทำให้เกิดความตื่นตัวในประเทศอื่น ๆ และชี้นำการตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าได้ จึงอาจเป็นความจำเป็นของผู้ประกอบการต่อไปในอนาคตที่จะต้องแสวงหาหรือพัฒนาเทคโนโลยีทดแทนที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา : https://www.foodnavigator.com/ สรุปโดย : มกอช.