หอยสองฝาเป็นสัตว์ที่กินอาหารโดยการกรองสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำ ซึ่งรวมไปถึงสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงสาหร่ายชนิดที่สร้างสารพิษได้ด้วย โดยปกติแล้วเมื่อหอยกินสาหร่ายที่มีพิษเข้าไปพิษของสาหร่ายมักไม่ทำอันตรายต่อหอยเอง แต่จะสะสมในหอยและทำให้เกิดอันตรายในมนุษย์ที่บริโภคหอยได้
ขณะนี้ซีกโลกเหนือกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งทำให้มีช่วงกลางวันยาวนาน ส่งเสริมการเจริญเติบโตของสาหร่ายต่าง ๆ ที่อาศัยแสงอาทิตย์ในการเจริญเติบโต รวมไปถึงสาหร่ายชนิดที่มีพิษ ซึ่งทำให้เกิดการสะสมสารพิษในหอยสองฝาหลายชนิดจนถึงระดับที่เป็นอันตรายในประเทศไอร์แลนด์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงแจ้งเตือนให้ประชาชนไม่จับหอยธรรมชาติมาบริโภคเอง ตลอดจนให้ระงับการจำหน่ายหอยจากฟาร์มในบริเวณที่พบสารพิษสะสมสูง ซึ่งประกอบไปด้วยชายฝั่งด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ โดยสารพิษที่พบส่วนใหญ่คือพิษที่ทำให้ท้องร่วง diarrheic shellfish poisoning (DSP) ซึ่งทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษชั่วคราว และพบสารพิษที่ทำให้เป็นอัมพาต paralytic shellfish poisoning (PSP) ซึ่งพบได้น้อยกว่า แต่สามารถก่อโรคได้รุนแรง โดยไม่สามารถสังเกตความแตกต่างจากหอยที่ปลอดภัยได้ และสารพิษไม่ถูกทำลายด้วยความร้อนหรือการแช่แข็ง ทางด้านประเทศนิวซีแลนด์ก็พบสารพิษในหอยปริมาณสูงเป็นบางบริเวณเช่นกัน และได้ดำเนินการห้ามประชาชนจับหอยและระงับการจำหน่ายสำหรับฟาร์มในบริเวณจนกว่าสถานการณ์สาหร่ายจะดีขึ้น
ในประเทศไทยก็มีการเลี้ยงและบริโภคหอยสองฝามาก เมื่อประกอบกับการอยู่ในเขตร้อนที่สาหร่ายเจริญได้ดีจึงควรมีการศึกษาประเมินความเสี่ยงและออกมาตรการควบคุมเฝ้าระวังอย่างรัดกุม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศและเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก ทั้งนี้ในประเทศไทยเคยเกิดกรณีหอยเป็นพิษจนทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วยครั้งใหญ่เมื่อปี 2526 แต่ยังไม่พบรายงานอีกหลังจากนั้น
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.