พิษซิกัวเทอราสร้างโดยสาหร่ายเซลล์เดียว แล้วสะสมในเนื้อและส่วนต่าง ๆ ของปลาตามห่วงโซ่อาหาร โดยปลาไม่ได้รับผลจากสารพิษ แต่มนุษย์ที่บริโภคปลาที่มีพิษจะเกิดอาการเจ็บป่วย โดยเมื่อไม่นานมานี้พึ่งมีรายงานข่าวการบริโภคปลามีพิษซิกัวเทอราในนิวซีแลนด์ (ดูที่ https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=7025) แต่ล่าสุดได้พบกรณีนี้อีกครั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์
โดยกรณีในประเทศเนเธอร์แลนด์นี้พบผู้ป่วย 5 ราย ที่รับประทานอาหารร่วมกัน แต่ไม่มีผู้ป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รายงานระบุว่าผู้ป่วยได้รับสารพิษจากปลากะพงแดงแช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการเรียกคืนปลากะพงแดงแช่แข็งล็อตที่ทำให้ผู้บริโภคป่วยคืนจากร้านค้าและผู้บริโภค พร้อมทั้งตรวจวิเคราะห์ชนิดและปริมาณสารพิษทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ปลากะพงแดงแช่แข็งล็อตดังกล่าวได้กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอีกด้วย แต่ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารได้เคยมีการจัดประชุมของผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดแนวทางประเมินและควบคุมความเสี่ยงของพิษซิกัวเทอราในเนื้อปลามาแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2560 แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเพราะยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
ผู้บริโภค ผู้ประกอบการอาหารทะเล และชาวประมงไทย ในฐานะทะเลเขตร้อนที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับปลาที่มีพิษซิกัวเทอราสะสม อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการผลิตและบริโภคอาหารทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะโลกร้อนที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายเซลล์เดียว เช่นการหลีกเลี่ยงการจับปลาในเขตแนวปะการัง เป็นต้น
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.