พิษซิกัวเทอรา (Ciguatera Fish Poisoning: CFP) เป็นสารพิษที่สร้างโดยสาหร่ายเซลล์เดียวในทะเลเขตร้อนที่อาศัยแถบแนวปะการัง เมื่อปลากินสาหร่ายเหล่านี้เข้าไป แม้ปลาจะไม่ได้รับพิษแต่พิษก็สามารถสะสมในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายปลา โดยเฉพาะในเครื่องใน ไข่ และหัวปลา ทั้งนี้ ปลาที่มีรายงานว่าพบสารพิษ ได้เเก่ ปลานกเเก้ว ปลาเก๋า ปลาน้ำดอกไม้ ปลาสาก ปลาขี้ตังเบ็ด ปลากะรัง ปลากะพงแดง ปลาไหลทะเล ปลาหมอทะเล และปลาสําลี เป็นต้น
รายงานข่าวล่าสุดระบุว่าพบผู้ป่วยจากการบริโภคปลาที่มีพิษซิกัวเทอรา 5 ราย โดยหนึ่งรายต้องนอนโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันรักษาหายแล้ว เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ โดยปลาที่มีพิษนั้นเป็นปลาเก๋าชนิดหนึ่งที่นำเข้าจากประเทศฟิจิ แล้วจัดจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาในเมืองดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้เรียกคืนสินค้าแล้ว โดยผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยยืนยันอาการของโรคในโรงพยาบาล ส่วนเนื้อปลายังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์ชนิดและปริมาณสารพิษ และมีการสอบสวนระบุแหล่งที่มาของปลาอยู่ด้วยเช่นกัน
ในประเทศไทยอาจยังไม่มีรายงานผู้ป่วยจากพิษนี้มากนัก แต่ทะเลไทยก็สามารถเป็นแหล่งแพร่กระจายของสาหร่ายที่สร้างสารพิษนี้ได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งปลาที่อาจมีสารพิษซิกัวเทอราได้ก็เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศไทย จึงควรเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อชาวประมงและผู้บริโภค ตลอดจนศึกษาประเมินความเสี่ยงในประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้สารพิษดังกล่าวไม่สามารถตรวจจับด้วยประสาทสัมผัสได้ (ไม่มีทั้งสี กลิ่น รส) และไม่สามารถทำลายด้วยความร้อนหรือความเย็น ผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fisheries.go.th/quality/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%20%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B2%20080859%20final.pdf
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.