ชื่อสารพิษ “อะฟลาทอกซิน” อาจเป็นที่คุ้นหูของผู้บริโภคโดยทั่วไปในฐานะสารพิษที่สามารถปนเปื้อนในถั่วลิสงและสามารถก่อให้เกิดมะเร็งตับ ในขณะที่สารพิษ “โอคราทอกซิน” อาจเป็นที่คุ้นหูของผู้บริโภคน้อยกว่า แต่โอคราทอกซินก็เป็นสารพิษอีกชนิดที่เป็นอันตรายและอาจปนเปื้อนในอาหารได้ โดยสารพิษชนิดนี้สร้างจากเชื้อราที่ขึ้นบนอาหารเช่นเดียวกับอะฟลาทอกซิน ในธรรมชาติจะพบในรูปโอคราทอกซิน เอ เป็นสารที่เป็นพิษถึงระดับยีนและมีความเสี่ยงต่อการก่อมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งในไต ซึ่งมีรายงานการพบในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ
ที่ผ่านมา หน่วยงานปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ได้ให้ความเห็นไว้แก่คณะกรรมาธิการยุโรป ตั้งแต่ปี 2006 ถึงปริมาณที่สามารถยอมรับได้ต่อสัปดาห์ (tolerable weekly intake : TWI) ของโอคราทอกซินอยู่ที่ 120 นาโนกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และทาง EFSA พึ่งเผยแพร่ผลการประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษนี้ในผลิตภัณฑ์หลายกลุ่ม เช่น ธัญพืช เนื้อแห้ง ชีส เมล็ดกาแฟและโกโก้ ขนมหวานที่ใส่ชะเอม และเครื่องเทศประเภทพริกป่น โดยผู้อ่านสามารถติดตามอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.efsa.europa.eu/en/efsajournal/pub/6113
ประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราซึ่งอาจสร้างสารพิษดังกล่าวเช่นกัน จึงมีความเสี่ยงว่าผู้บริโภคในประเทศไทยเองก็อยู่ในความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษดังกล่าว แต่ทั้งนี้ สารพิษดังกล่าวสามารถจัดการความเสี่ยงให้ลดลงได้ด้วยการจัดการการผลิตให้สะอาดจากการปนเปื้อนเชื้อราให้ได้มากที่สุด และเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมเพื่อป้องกันเชื้อราเจริญเติบโตได้ ผู้ผลิตจึงควรจัดการดูแลควบคุมความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
ที่มา : EFSA/FoodSafetyNews สรุปโดย : มกอช.