จากกรณีปนเปื้อนสารพิษโทรเพนอัลคาลอยด์ในผลิตภัณฑ์ธัญพืชที่โครงการอาหารโลก (WFP) จัดหาให้กับประชาชนในประเทศยูกันดาจนมีผู้เสียชีวิตถึง 5 รายเมื่อปี 2019 ทางโครงการจึงได้ขอให้ FAO และ WHO ร่วมพิจารณาแนวทางป้องกันการปนเปื้อนดังกล่าว และได้จัดการประชุมออนไลน์ของผู้เชี่ยวชาญขึ้นเมื่อช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
สารโทรเพนอัลคาลอยด์ที่พบได้แก่สารไฮออสไซยามีนและสโคโพลามีน จากต้นลำโพงม่วง (Datura stramonium) ซึ่งเป็นวัชพืชขึ้นปะปนในแปลงปลูกแล้วเมล็ดสามารถปนเปื้อนมากับผลผลิตได้ระหว่างการเก็บเกี่ยว หรือส่วนต่าง ๆ ของต้นพืชดังกล่าวเองก็มีสารพิษอยู่ทั้งสิ้นและอาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์อาหารได้ และกระบวนการผลิตและปรุงอาหารไม่สามารถทำลายสารกลุ่มดังกล่าวลงได้ด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์ Codex กำหนดบังคับปริมาณสูงสุดในอาหารสำหรับสารพิษกลุ่มดังกล่าวและยังไม่มีแนวทางจัดการเพื่อควบคุมความเสี่ยง ตลอดจนยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพืชและสารพิษที่มากพอ ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญพบเพียงว่าปัจจัยหลาย ๆ ประการของการเพาะปลูก เช่นฤดูกาล หรือปริมาณน้ำสามารถส่งผลกับปริมาณสารพิษที่สะสมในพืช และมีความพยายามจัดการกระบวนการผลิต ทั้งการควบคุมดูแลให้ผลผลิตปนเปื้อนสารพิษน้อยที่สุด กระทั่งเพิ่มการทำความสะอาดวัตถุดิบเพื่อกำจัดเมล็ดวัชพืชต่าง ๆ ออก ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสามารถลดการปนเปื้อนสารพิษลงสู่ระดับปลอดภัยได้
ในประเทศไทยเองก็มีพืชในกลุ่มต้นลำโพงกระจายพันธุ์กันอยู่ทั่วไปเช่นกัน และพืชกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็มีสารพิษกลุ่มอัลคาลอยด์อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของต้น ผู้ผลิตในประเทศไทยเองจึงควรระมัดระวังการปนเปื้อนสารพิษจากพืชกลุ่มนี้ในผลิตภัณฑ์อาหารด้วย
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.