เครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (International Food Safety Authorities Network: INFOSAN) รายงานว่าในไตรมาสแรกของปี 2020 เกิดเหตุการณ์อาหารไม่ปลอดภัยขึ้น 38 กรณี หรือกว่าสองเท่าของไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งเกิดเพียง 15 กรณี จากประเทศสมาชิกในเครือข่ายทั้งหมด ทั้งนี้เป็นเหตุการณ์อาหารไม่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคทางชีวภาพ 25 กรณี เป็นการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลาสูงสุด ที่ 8 กรณี รองลงมาเป็นการปนเปื้อนเชื้อ Listeria monocytogenes 5 กรณี รวมไปถึงกรณีปนเปื้อนในเห็ดเมื่อเดือนมีนาคม (อ่านข่าวดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=6919) ลำดับถัดมาเป็นการปนเปื้อนโนโรไวรัส 3 กรณี การปนเปื้อนเชื้อ STEC, Clostridium botulinum และ Bacillus cereus ชนิดละ 2 กรณี การปนเปื้อนเชื้อ Cronobacter และเชื้อ Shigella sonnei ชนิดละ 1 กรณี ส่วนอีกหนึ่งกรณีไม่ได้ระบุชนิดเชื้อก่อโรค นอกจากนั้นยังมีกรณีการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แจ้งให้ผู้บริโภคทราบ และการปลอมปนวัตถุที่ไม่ใช่อาหาร โดยพบเหตุการณ์อาหารไม่ปลอดภัยในอาหารหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้งกลุ่มพืช สัตว์ ประมง อาหารแปรรูป ตลอดจนอาหารเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ
ทั้งนี้ INFOSAN ได้ตั้งเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ 2020-2025 ไว้ว่าจะลดระยะเวลาที่ใช้ในการรายงานเหตุฉุกเฉินทางความปลอดภัยอาหารให้มีการแจ้งให้ทราบภายใน 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลได้ใน 3 วัน จากเดิมที่มีการแจ้งให้ทราบใน 48 ชั่วโมงและส่งข้อมูลใน 7 วัน โดยเฉลี่ย และต้องการเพิ่มสัดส่วนการรายงานจากสมาชิกเครือข่ายก่อนแหล่งข้อมูลทุติยภูมิและสื่อสารมวลชนจาก 26% เป็น 50% ให้ได้ภายในระยะเวลาของแผนนี้
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.