เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เลขาธิการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ให้รัฐบาลของชาติต่าง ๆ พิจารณาผ่อนปรนมาตรการกีดกันทางการค้าอาหารเพื่อให้การค้าและห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลกเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยในขณะนี้รัฐทั่วโลกจำเป็นต้องดำเนินมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการกีดกันทางการค้า ห่วงโซ่อุปทานอาหาร และความมั่นคงทางอาหารของประชากรทั่วโลก
แถลงการณ์ของ FAO, WHO และ WTO ได้ระบุถึงประเด็นการกำหนดมาตรการเพื่อสุขภาวะของประชาชน จะต้องไม่ก่อให้เกิดการทำลายห่วงโซ่อุปทานอาหาร ซึ่งรวมไปถึงการระงับการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารและการกักการขนส่งอาหารอันจะส่งผลให้เกิดการเน่าเสียและเกิดอาหารเหลือทิ้ง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อปัญหาความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหาร ที่สามารถส่งผลต่อการเกิดปัญหาการควบคุมการส่งออกและนำไปสู่ความขาดแคลนของตลาดโลกในที่สุด ซึ่งก่อให้เกิดการดีดตัวและความผันผวนของราคาอาหารที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศรายได้น้อย ประเทศที่ขาดแคลนอาหาร ตลอดจนองค์กรมนุษยธรรมต่าง ๆ ที่จะจัดหาอาหารให้กับผู้ที่จำเป็น
ทั้งสามองค์กรเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าอาหารในวิกฤติการณ์ COVID-19 จึงมีความสำคัญยิ่ง และให้ความสำคัญต่อทั้งการป้องกันการแพร่กระจายโรคตั้งแต่ภาคการผลิตเพื่อไม่ให้กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร รวมทั้งเห็นควรเปิดการเข้าถึงมาตรการการค้าที่เกี่ยวกับอาหาร การผลิต การบริโภคการเก็บรักษาเเละสถิติราคาสินค้าที่เป็นปัจจุบัน เพื่อลดความตื่นตระหนกและกักตุนอาหารหรือสิ่งจำเป็นอื่นๆ ด้วย
ที่มา : องค์การการค้าโลก สรุปโดย : มกอช