นักวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ เผยพบการแพร่ระบาดของโรคใบไหม้หอมหัวใหญ่ ที่มีเชื้อรา Stemphylium vesicarium เป็นเชื้อก่อโรค และเป็นสาเหตุการตายของหอมหัวใหญ่ที่มีพื้นที่เพาะปลูกในมลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหัวหอมใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐฯ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,800 เฮกตาร์ และมีปริมาณผลผลิตมากถึง 110,000 ตัน ซึ่งในพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่มีการจัดการควบคุมโรคทางใบที่มักส่งผลกระทบต่อผลผลิต อาทิ โรคขอบใบแห้ง (Botrytis leaf blight) โรคใบจุดสีม่วงหอม (purple blotch) โรคราน้ำค้าง (downy mildew) และโรคไหม้ (Stemphylium leaf blight)
ทั้งนี้ โรคไหม้หอมหัวใหญ่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นโรคทางใบที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากไม่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตหัวหอมใหญ่ที่เพาะปลูกในมลรัฐนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2533 จนกระทั่ง ล่าสุด กลุ่มเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวได้มีการรายงานพบโรคดังกล่าวแพร่ระบาดกับผลผลิตหอมหัวใหญ่มากขึ้น ส่งผลให้ทีมนักวิจัยเข้าตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก และพบการแพร่ระบาดของโรคไหม้หอมหัวใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตเป็นจำนวนมาก และพบว่าเชื้อก่อโรคเกิดการดื้อยา โดยขณะนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ อยู่ในช่วงการพัฒนายา เพื่อกำจัด/ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไหม้หอมหัวใหญ่
อนึ่ง โรคไหม้หอมหัวใหญ่ (Stemphylium leaf blight : SLB) อาการเริ่มแรกจะเกิดแผลสีน้ำตาลรูปวงกลมและวงรี โดยแผลดังกล่าวจะขยายตัวกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม และทำลายพื้นที่สีเขียว ซึ่งส่งผลกระทบต่อขนาดและคุณภาพของหัวหอมใหญ่
ที่มา : https://www.newfoodmagazine.com/ สรุปโดย : มกอช.