รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนเปิดตัวผลงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการกำหนดมาตรฐานพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ในทะเล เพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable plastic materials) โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดมลภาวะของท้องทะเลจากขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ซึ่งจากสถิติพบว่า มีขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ถูกทิ้งในทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ 8 ล้านตันต่อปี ถือเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหม่นอกเหนือจากปัญหาโลกร้อน
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังว่า ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลจะถูกยกเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมกลุ่ม 20 (G20) รวมทั้งมีแผนจะนำเสนอกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในที่ประชุมระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 ณ เมืองโอซาก้า
ในส่วนของหน่วยงานจัดทำมาตรฐาน ซึ่งได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สถาบัน AIST (The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะรวมตัวจัดตั้งองค์กรในช่วงฤดูร้อนปี 2562 เพื่อดำเนินการศึกษาวิธีการวัดและประเมินคุณภาพน้ำทะเล รวมถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการย่อยสลายของพลาสติกชนิดใหม่ ซึ่งทางกระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อองค์การมาตรฐานสากล (ISO) ได้ภายในช่วงปี 2563-2572
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้นำพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงช้อปปิ้ง และหลอด อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตพลาสติกชนิดใหม่มีราคามากกว่าการผลิตพลาสติกแบบเดิมหลายเท่า ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการหาวิธีลดต้นทุนการผลิตให้ได้ภายในปี 2568 นอกจากนั้น ยังได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มเติมว่าจะขยายการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ขวดน้ำยาทำความสะอาด และถาดอาหาร เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ประโยชน์ รวมทั้ง จะมีการออกแบบสัญลักษณ์สำหรับพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และศึกษาเพิ่มเติมด้านกระบวนการจัดเก็บและทำลายขยะพลาสติก
ที่มา : the-japan-news.com สรุปโดย : มกอช.