TH EN
A A A

จีนเร่งวิจัยพันธุ์ข้าวทนเค็ม หวังขยายงานวิจัยไปแอฟริกา

24 พฤษภาคม 2562    69 ครั้ง
                สถาบันและองค์กรด้านงานวิจัยการเกษตรจีนเร่งวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวทนเค็ม ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตข้าวในบริเวณที่ดินมีความเป็นด่างและมีความเค็มสูงได้
                จากความร่วมมือในหลายภาคส่วนของจีน เช่น ศูนย์การวิจัยในเมืองชิงเต่า, ศูนย์การวิจัยข้าวพันธุ์ผสมในจังหวัดหูหนาน, สำนักวิทยาศาสตร์เกษตรกวางตุ้ง และสถาบันวิจัยข้าวจีน รวมทั้งภาคเอกชนกว่า 20 บริษัท และสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์อื่นๆในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในดินที่มีความเค็มสูง ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2560 พบว่าผลการทดลองในปัจจุบันเป็นที่น่าพอใจ โดยต้นกล้าในพื้นที่ทดลองในทุกภูมิภาค(เขตซินเจียง, บริเวณอ่าวปั๋วไห่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน) สามารถเติบโตได้  และมีการขยายพื้นที่ทดลองปลูกเพิ่มมากกว่า 4,168 ไร่ เพื่อขยายรองรับการวิจัยและพัฒนาในการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดของข้าวทนเค็ม รวมไปถึงการทดสอบปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูกแต่ละระดับ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การผลิตจริงในระดับภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 300 กิโลกรัม/หมู่ (หรือประมาณ 720 กิโลกรัม/ไร่) พร้อมกับการปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเค็มสูงให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก
                ปัจจุบันจีนมีพื้นที่ดินเค็มประมาณ 625 ล้านไร่ กว่า 1 ใน 5 มีความเหมาะสมเพียงพอที่จะปรับปรุงให้สามารถทำการเพาะปลูก ซึ่งในแผนการวิจัยขั้นแรกจะทำการปรับปรุงพื้นที่ขนาด 41.9 ล้านไร่ และจะขยายจนเต็มพื้นที่ในขั้นต่อไป รวมทั้งการป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มสู่พื้นที่เพาะปลูก
                ทั้งนี้พันธุ์ข้าวทนเค็มของจีน ได้รับความสนในอย่างมากในสาธารณรัฐคองโก ปากีสถาน อินเดีย และไนจีเรีย และจีนยังวางแผนจะสร้างศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อความเค็ม-ด่าง ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเพิ่มเติมด้วย
 
 
ที่มา :
www.escn.cn
สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?