TH EN
A A A

อินโดนีเซียเล็งตลาดใหม่ เหตุวิกฤติราคาน้ำมันปาล์ม

24 พฤษภาคม 2562   
                สำนักงานสถิติอินโดนีเซีย (BPS) รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มที่ลดลงอย่างมาก กระทั่งเป็นผลทำให้อินโดนีเซีย ขาดดุลทางการค้าในเดือนเมษายน 2562 ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลทางค้าสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 2556 สาเหตุเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและทัศนคติในเชิงต่อต้านการผลิตสินค้าโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
                BPS รายงานเพิ่มเติมว่า แม้ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกกลับเกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนเมษายน 2562 มูลค่าการส่งออก CPO ลดลง 27.86% จาก 1.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 919 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน
                ทั้งนี้ ในส่วนของมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียไปยังจีนเพิ่มขึ้นถึง 14% ในปี 2561 แต่มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศอื่น อาทิ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และอิยิปต์ นั้นลดลง มากไปกว่านั้น มูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียและสเปนก็ลดลงอย่างชัดเจนเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นประเทศฝั่งยุโรปที่ได้รับอิทธิพลจากนโยบายของสหภาพยุโรป (EU) ถึงแม้ว่ารัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิก EU ก็ตาม
                นอกจากนั้น สมาคมผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย (Gapki) ได้เผยว่า ในเดือนเมษายน 2562 ราคาเฉลี่ยของ CPO อยู่ที่ 530 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ย 528.40 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2562 แต่ยังคงต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 556.60 ดอลลาร์สหรัฐของเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียยังอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากและหวังว่าความต้องการในประเทศจะสูงเช่นเดิมเพื่อบรรเทาอุปสรรคด้านราคาที่ลดลง
                ในปี 2562 การส่งออก CPO นั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต ซึ่งคาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน หรือคิดเป็น 4.65% จากผลผลิต 43 ล้านตันของปี 2561 โดยผลผลิต 13 ล้านตันจำหน่ายภายในประเทศ โดยประมาณ 6 ล้านตันเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
                ปัจจุบันอินโดนีเซียได้มองหาโอกาสใหม่ในการส่งออก CPO เช่น อิหร่าน และญี่ปุ่น โดยช่วงนี้ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มนำเข้า CPO จากอินโดนีเซียเพื่อนำไปเป็นแหล่งพลังงาน หลังจากก่อนหน้านี้นำเข้าเพียงน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (Palm kernel oil) ทั้งนี้ การเข้าสู่ตลาดใหม่ถือเป็นความท้าทายของอินโดนีเซีย เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงในการชำระเงินของอิหร่าน
 
 
ที่มา : www.mmindustri.co.id สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?