สำนักงานสถิติปากีสถานรายงานว่า ปริมาณการส่งออกอาหารทะเลของปากีสถานลดลง 5.07% ถึง 130,830 ตัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 – มีนาคม 2562 เปรียบเทียบกับปริมาณ 137,819 ตันของปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ด้านมูลค่าการส่งออกลดลง 6.88% ถึง 293.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับมูลค่า 315.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐของปี 2560/2561
ในส่วนของปริมาณการส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์ปลาของปากีสถานลดลงถึง 20,412 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ในเดือนมีนาคม 2562 เปรียบเทียบกับปริมาณส่งออก 24,288 ตันในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกเดือนต่อเดือน เดือนมีนาคม 2562 ส่งออกเพิ่มขึ้น 31.7% จากปริมาณ 15,499 ตันของเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ผู้นำเข้าปลาและผลิตภัณฑ์ปลาของปากีสถาน ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อิยิปต์ ตะวันออกกลาง สหราชอาณาจักร ไทย เกาหลีใต้ และบังกลาเทศ อย่างไรก็ตาม ปริมาณสัตว์น้ำสำหรับการค้าในน่านน้ำของปากีสถานลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการจับปลามากเกินไปและพฤติกรรมการจับปลาผิดกฎหมาย
ส่วนใหญ่ปากีสถานส่งออกอาหารทะเลไปจีนในราคาต่ำ โดยปากีสถานจำหน่ายปลาและผลิตภัณฑ์ปลาในราคา 2.27 – 2.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย เป็นราคาที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาค ที่ 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย ในขณะที่ สหภาพยุโรป (EU) ได้ยกเลิกการระงับการส่งออกของโรงงานสองแห่งในปากีสถาน เพียงเพื่อลดภาวะความกดดันทางการเมือง โดยไม่ได้เข้าตรวจสอบรับรองแต่อย่างใด แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการส่งออกอาหารทะเลโดยรวมของปากีสถานมากนัก ทั้งนี้ มีแค่โรงงานแห่งเดียวจากสองโรงงานที่ดำเนินการส่งออกอีกครั้ง ซึ่งอาหารทะเลยังคงจำหน่ายในราคาต่ำเหมือนกับประเทศจีน เนื่องจากอินเดียมีความสามารถในการต่อรองสูงกว่า ด้วยปัจจุบันมีถึง 200 โรงงานที่ดำเนินการส่งออกไป EU
ทั้งนี้ กรมประมงเผยว่า บริษัทส่งออกอาหารทะเลในปากีสถานทั้งหมด 150 แห่ง โดยมี 35 แห่งดำเนินการที่ท่าเรือประมง Karachi ในส่วนของปริมาณสำรองเพื่อจำหน่ายของปากีสถานลดลงอย่างมาก ตั้งแต่การบังคับใช้ระเบียบบังคับการห้ามจับปลาในฤดูผสมพันธุ์เมื่อปี 2561