TH EN
A A A

นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีสำหรับคนแพ้กลูเต็น

22 มีนาคม 2562   
                นักวิจัยจากนานาชาติร่วมกันพัฒนาข้าวสาลีพันธุ์ใหม่ที่ผู้มีอาการแพ้กลูเต็นสามารถบริโภคได้ โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีดัดแปรพันธุกรรมที่สามารถสร้างเอนไซม์ยับยั้งสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งนักวิจัยได้เพิ่ม DNA ตัวใหม่ลงไปในข้าวสาลี ซึ่งพัฒนาจากสายพันธุ์ที่สามารถสร้างเอนไซม์ 2 ชนิด ชนิดหนึ่งพบในข้าวบาร์เลย์ และอีกชนิดหนึ่งพบในแบคทีเรีย(Flavobacterium meningosepticum) เอนไซม์กลุ่มนี้เรียกว่า กลูเตเนส (glutenases) ซึ่งสามารถย่อยโปรตีนกลุ่มโปรลามิน (prolamin protein) ในระบบทางเดินอาหารได้ โดยจากการศึกษาเพื่อจำลองระบบย่อยอาหารของมนุษย์ในห้องปฎิบัติการ พบว่า เมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีชนิดใหม่ ส่งผลให้ปริมาณสารก่อภูมิแพ้ลดลงกว่า 2 ใน 3 ดังนั้นการวิจัยนี้จึงเป็นหนทางใหม่สำหรับผู้แพ้กลูเต็น และเกษตรกรที่จะมีโอกาสพัฒนาการปลูกข้าวสาลีชนิดใหม่
                นอกจากนี้จะทำให้ผู้แพ้กลูเต็น และผู้ที่มีภาวะไม่ทนต่อกลูเต็น มีตัวเลือกในการบริโภคมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายที่ใช้กับอาหารดัดแปลงสูตรสำหรับผู้แพ้กลูเต็น ทำให้ผู้ที่มีอาการแพ้กลูเต็นและผู้มีภาวะไม่ทนต่อกลูเต็น สามารถบริโภคอาหารที่ทำจากแป้งสาลีได้อย่างเป็นปกติ
                ในขณะนี้งานวิจัยอยู่ในระหว่างการศึกษาการความคงตัวต่ออุณหภูมิสูงของเอนไซม์กลูเตเนส เนื่องจากข้าวสาลีจะถูกแปรรูปเพื่อการบริโภค โดยผ่านความร้อนสูงที่อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์กลูเตเนสเกิดการเปลี่ยนแปลง และในขั้นต่อไปคือการศึกษาร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสาลี เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดวิธีเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับข้าวสาลีพันธุ์ใหม่
 
 
ที่มา : www.bakeryandsnacks.com สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?