TH EN
A A A

ไทยเฮ! EU ปลดใบเหลืองประมง IUU

24 มกราคม 2562   
                คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศยกเลิกสถานะใบเหลืองด้านการค้าประมงผิดกฏหมาย IUU (illegal, unreported, unregulated fishing) ของประเทศไทย หลังจากทราบว่าประเทศไทยได้แก้ปัญหาเรื่องกฏหมายประมงและการบริหารจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยอยู่ในรายชื่อใบเหลืองตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 โดยคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศไทยได้ร่วมมือพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาประมง นอกจากนั้นยังได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อกำกับดูแลเรือประมง และเพิ่มการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง รวมถึงการเฝ้าติดตามกิจกรรมประมงทางไกลและการตรวจสอบท่าเทียบเรืออย่างรัดกุมยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยพ้นจากสถานะใบเหลืองประมง ในการนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้แสดงความยินดีกับประเทศไทยเรื่องพันธสัญญาและพร้อมที่จะสนับสนุนไทยให้เป็นต้นแบบของภูมิภาค โดยคณะกรรมาธิการจะดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับไทยเกี่ยวกับ IUU และมุ่งหวังให้ภาคอุตสาหกรรมการประมงของไทยคงมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีไว้อย่างสม่ำเสมอ
                ปัจจุบันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานสินค้าประมงนานาชาติ และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในข้อตกลงมาตรการรัฐเจ้าของท่า ประเทศไทยได้ควบคุมเรือต่างชาติที่เข้าเทียบท่าและร่วมมือกับรัฐเจ้าของธงในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก จากการบังคับใช้กฏหมายประมงและระบบการบริหารดังกล่าวในไทย จะทำให้เกิดผลกระทบเป็นเท่าตัวต่อทรัพยากรประมงของโลก โดยคณะกรรมาธิการยุโรปและกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (EEAS) ซึ่งมีภารกิจครอบคลุมทั้งด้านการต่างประเทศและความมั่นคง มุ่งหวังให้ประเทศไทยแก้ปัญหาอย่างจริงจังเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการบังคับแรงงานในภาคการประมงไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้ให้สัตยาบันกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อเป็นภาคีอนุสัญญาด้านการทำประมงขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (C188 - Work in Fishing Convention)
                อนึ่ง การจับปลาผิดกฏหมาย IUU มีมูลค่า 10 – 20 พันล้านยูโร หรือปริมาณ 11 – 26 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 15 ของปริมาณการจับทั่วโลกในแต่ละปี โดยมี EU เป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุด การต่อต้านทำประมงผิดกฏหมายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการประมงในพันธสัญญา EU เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน และให้ตรงตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลของสหภาพยุโรป ทั้งนี้การตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปขึ้นอยู่กับกฏ IUU ของสหภาพยุโรปที่ได้มีการบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าประมงที่นำเข้ามายังตลาด EU ได้ผ่านการรับรองนำเข้าตามกฏหมาย จุดประสงค์หลักของกระบวนการตรวจสอบ IUU คือการได้หารืออย่างเป็นทางการ (Formal Dialogue) และเป็นโอกาสที่ EU จะสามารถเข้าสนับสนุนประเทศที่สาม ซึ่งบ่อยครั้งทำให้ EU ได้พันธมิตรร่วมต่อต้าน IUU เพิ่มขึ้น 
                ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิด Formal Dialogue กับประเทศที่สาม 25 ประเทศที่มีความเสี่ยงหรืออยู่ในสถานะใบเหลือง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการผลักดันการป้องกันแก้ไขปัญหา IUU อย่างจริงจัง โดยหาก EU บรรลุการเจรจาได้ จะมีผลต่อการยกเลิกสถานะ แต่หากประเทศใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบจะได้สถานะใบแดงและระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศนั้น ๆ
 
 
ที่มา : europa.eu สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?