TH EN
A A A

UK เปิดรับข้อเสนอเติมโฟลิคในแป้งแก้ปัญหาพัฒนาการประสาททารก

18 ตุลาคม 2561   
                รัฐบาลสหราชอาณาจักรเตรียมเสนอนโยบายใหม่ที่จะเติมกรดโฟลิค (folic acid) ซึ่งคือวิตามิน B9 ในแป้ง เพื่อลดอัตราเด็กทารกที่มีความผิดปกติตั้งแต่เกิดด้วยภาวะหลอดประสาทผิดปกติ (Neural Tube Defects : NTDs) โดยข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ (Public Health England : PHE) เปิดเผยว่า มากถึงร้อยละ 70 ของผู้หญิงในสหราชอาณาจักรที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 16 – 49 ปีมีปริมาณกรดโฟลิคในร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) แนะนำในผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่การตั้งครรภ์
                สหราชอาณาจักรมีอัตราเด็กทารกที่เกิดมาผิดปกติด้วยภาวะ NTDs สูงสุดในยุโรป โดยมีการทำแท้งมากถึง 2 รายต่อวันจากการวินิจฉัยพบ NTDs ในขณะตั้งครรภ์ และมีเด็กทารกประมาณ 2 รายต่อสัปดาห์ที่เกิดมาด้วยภาวะ NTDs โดยส่วนใหญ่จะพบ NTDs ประเภท spina bifida ซึ่งเป็นภาวะที่กระดูกไขสันหลังพัฒนาผิดปกติในช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ การบริโภคกรดโฟลิดในระหว่างการตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะ NTDs ประเภท anencephaly ได้มากถึงร้อยละ 70 ซึ่งเป็นภาวะที่สมอง กะโหลก และหนังศีรษะสีส่วนใหญ่ของทารกระยะ fetus ในครรภ์ไม่พัฒนา ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
                ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรปฏิเสธแนวคิดการเติมกรดโฟลิคในอาหาร เนื่องจากมีงานวิจัยหนึ่งจากสถาบันการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute of Medicine : IOM) รายงานว่า ปริมาณกรดโฟลิคในร่างกายที่สูงเกินไปเสี่ยงต่อการทำลายระบบประสาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกลุ่มหนึ่งได้สามารถพิสูจน์ให้เหล่ารัฐมนตรีเชื่อได้แล้วว่า การเติมกรดโฟลิคในแป้งที่ใช้สำหรับการทำขนมปังสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะ NTDs ในเด็กทารก และภาวะร้ายแรงอื่นๆที่ทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
                ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้มีการเติมกรดโฟลิคในแป้งมาตั้งแต่ปี 2541 แล้ว และได้สามารถลดอัตรา NTDs ในเด็กแรกเกิดได้ร้อยละ 23 ปัจจุบัน มีประเทศที่ได้เสนอการเติมกรดโฟลิคในแป้งแล้วจำนวน 81 ประเทศ เนื่องจากจำนวนผู้หญิงมากถึง 1 ใน 3 ปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภคอาหารเสริมกรดโฟลิค 400 มิลลิกรัมต่อวันในช่วง 4 เดือนแรกของตั้งครรภ์
 
ที่มา: www.foodnavigator.com สรุปโดย: มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?