กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของออสเตรเลีย (Department of Agriculture and Water Resources) ได้เผยแพร่ประกาศอาหารนำเข้าเลขที่ 12-18 ลงวันที่ 27 กันยายน 2561 เกี่ยวกับการควบคุม ณ ด่านนำเข้า สำหรับการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปลาทูน่า และปลากะพง (IFN 12-18-Border controls for carbon monoxide treatment of tuna and barramundi - amended) เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการและผู้นำเข้าทราบ ถึงการควบคุม ณ ด่านนำเข้า เพื่อตรวจสอบและตรวจวิเคราะห์การใช้ก๊าซข้างต้น ซึ่งจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของออสเตรเลีย จะดำเนินการตรวจสอบ และตรวจวิเคราะห์สินค้าปลาทูน่าสดแช่เย็นหรือแช่แข็ง และเนื้อปลากะพงทั้งแบบหั่นชิ้น (Portions) เนื้อแล่ถอดกระดูก (Fillet) และเนื้อแล่ (cutlets) ภายใต้แผนการตรวจสอบอาหารนำเข้าที่อัตราการตรวจสอบร้อยละ 5 โดยมีหลักเกณฑ์การประเมิน ดังนี้
1. หากไม่มีเอกสารประกอบหรือการปิดฉลากเพื่อระบุว่าสินค้าผ่านการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์โดยทางตรง หรือทางอ้อม จะต้องผ่านการวิเคราะห์ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่เกิน 200 µg/kg โดยหากตรวจพบว่าเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สินค้าดังกล่าวจะถูกปฏิเสธการนำเข้า
2. หากมีการปิดฉลากระบุว่า ผ่านการรมควัน ไม่ต้องเข้ารับการตรวจสอบ แต่ทั้งนี้สินค้าดังกล่าวจะต้องระบุอย่างชัดเจนว่า ผ่านการรมควัน (Smoked) หากไม่มีการระบุจะถูกปฏิเสธการนำเข้า
3. หากมีการปิดฉลากระบุว่า ผ่านการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์โดยตรง (อาทิ การฉีดก๊าซ) สินค้าจะถูกปฏิเสธถูกปฏิเสธการนำเข้า โดยไม่ต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์
ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงแคนเบอร์รา สรุปโดย: มกอช.