นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรกลุ่มหนึ่งของสหราชอาณาจักรได้เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงถึงอนาคตของการปรับแต่งจีโนม (gene editing) ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์พืช (new plant breeding techniques : NPBTs) โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าว ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบทแห่งสหราชอาณาจักร (Department of Environment, Food and Rural Affairs : DEFRA) ด้วยเนื้อหาในเชิงที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอนุญาตการใช้ gene editing และชี้ว่าการห้าม gene editing จะทำให้สหราชอาณาจักรล้าหลังประเทศอื่นที่ใช้นวัตกรรมใหม่นี้
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (European Court of Justice : ECJ) ได้ตัดสินว่า gene editing เป็นการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางพันธุกรรม ในแบบที่ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้โดยธรรมชาติ จึงจัดให้อยู่ในขอบข่ายของการดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2561 ECJ ได้ตัดสินให้ แยกนิยามการควบคุมพืช gene editing อยู่ภายใต้กฎหมาย GMOs (Regulation (EC) No 1829/2003) ที่มีข้อบทควบคุมสินค้า GMOs อย่างเข้มงวด เช่น ต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) และคณะกรรมการห่วงโซ่อาหารและสวัสดิภาพสัตว์ (Standing Committee on the Food Chain and Animal Health : PAFF Committee) ก่อนพืช GMOs จะได้รับอนุญาตการเพาะปลูกในสหภาพยุโรป
ในขณะที่ DEFRA ของสหราชอาณาจักรในกรณีนี้แตกต่างจาก ECJ ที่ชี้ให้ gene editing แตกต่างจาก GMOs เนื่องจากอาจพิจารณาข้อเสนอไม่มีการเติมสารพันธุกรรมแปลกปลอม จึงไม่ควรควบรวม gene editing ในกฎหมายเดียวกับ GMOs เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของ gene editing คล้ายคลึงกับการคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีแนวโน้มว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถผลักดันใช้พืช gene editing ได้เมื่อออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)