คณะอนุญาโตตุลาการขององค์การการค้าโลกได้มีคำตัดสินออกมาแล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2550 ว่า มาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่บีบให้ผู้ส่งออกกุ้งไทยและอินเดียต้องวางเงินค้ำประกันการนำเข้า(ซี-บอนด์) ไว้กับกรมศุลกากรสหรัฐฯในอัตรา 100% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งปีคูณด้วยอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ถือเป็นการละเมิดกฏหมายการค้าโลก
นายสตีเฟน นอร์ตัน โฆษกสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การกำหนดให้วางเงินค้ำประกันสินค้ากุ้งที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยและอินเดียไม่เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด และยังเห็นด้วยกับคำฟ้องร้องของฝ่ายไทยที่ว่าวิธีการคำนวณภาษีของสหรัฐฯทำให้ภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บสูงเกินจริง
ข่าวระบุว่า รายงานการตัดสินดังกล่าวยังเป็นข้อมูลลับ แต่ได้มีการแจ้งต่อ 3 ประเทศที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม คำตัดสินรอบสุดท้ายจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยทั้ง 3 ประเทศยังสามารถแสดงความคิดเห็นต่อคำตัดสินและยื่นอุทธรณ์ได้
ในปี 2548 ไทยครองส่วนแบ่งสินค้ากุ้งของสหรัฐถึง 40% โดยส่งออกไป 160,892 ตันจากการนำเข้ารวมของสหรัฐฯ 528,836 ตัน ส่วนอินเดียครองตลาดสหรัฐฯเป็นอันดับที่ 6 โดยส่งออกไป 35,700 ตัน