ขณะนี้ นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” กำลังเป็นที่กล่าวขานอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน รวมทั้งเน้นภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการมากขึ้น
นโยบายดังกล่าวยังครอบคลุมถึงภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วย โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรแบบสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี ดังตัวอย่างในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งได้มีการพัฒนาการทำเกษตรกรรม 4.0 อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและศักยภาพด้านการผลิต โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ เช่น การนำระบบนำทางด้วยดาวเทียม (GNSS) ทำให้ทราบตำแหน่งบนพื้นที่การเกษตร ลดการทำงานทับซ้อนบนจุดเดียวกัน และทำให้ช่วยประหยัดพลังงาน น้ำและสารเคมี นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเซ็นเซอร์มาใช้ตรวจวัดสุขภาพสัตว์ หรือ พฤติกรรมสัตว์ซึ่งจะนำค่าที่ได้มาประมวลผลและเชื่อมต่อกับเครื่องจักรทำให้สามารถรักษาอาการโรคในสัตว์ได้ทันท่วงที รวมไปถึงการปรับปรุงพันธุ์พืช หรือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเก็บเกี่ยว เป็นต้น
นโยบายการเกษตร 4.0 หากผลักดันและปรับใช้ได้เป็นผลสำเร็จจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้แก่เกษตรอีกด้วย