เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 04/2015 ว่าด้วยการควบคุมความปลอดภัยอาหารสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากพืช มีสาระสำคัญ ดังนี้
- กฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 04/2015 เป็นการปรับแก้จากกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 88/2011 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากอาหารที่อันตราย รวมทั้งเสริมสร้างการควบคุมความปลอดภัยอาหารสำหรับการนำเข้าและส่งออก ได้กำหนดประเทศที่ประสงค์จะส่งออกสินค้าจากพืชที่ถูกกำหนดภายใต้กฎกระทรวงดังกล่าว ต้องได้รับรองความสามารถการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารของห้องปฏิบัติจากกระทรวงเกษตรอินโดฯ จึงจะส่งออกสินค้าไปยังอินโดฯ ได้
- สินค้าที่ถูกกำหนดภายใต้กฎกระทรวงฯ มี 103 รายการ โดยมีสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง เมลอน สับปะรด มะละกอ หัวหอม กระเทียม หอมแดงและข้าว
- ประเภทสิ่งปนเปื้อนที่ต้องถูกตรวจสอบ ได้แก่ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก สารพิษจากเชื้อรา (Aflatoxin และ Ochratoxin A) และจุลินทรีย์ (Salmonella sp. และ Escherichia coli.)
- การขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร เพื่อส่งออกไปอินโดฯ ต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานหลักด้านความปลอดภัยอาหารและต้องยื่นแบบฟอร์มใบสมัครต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอินโดฯ และอธิบดี Indonesian Agricultural Quarantine Agency (IAQA) พร้อมทั้งข้อมูลของหน่วยงานหลักด้านความปลอดภัยอาหาร หน่วยงานผู้มีอำนาจในการให้การรับรองห้องปฏิบัติการตรวจด้านความปลอดภัยอาหาร รายการยาฆ่าแมลงและส่วนผสมที่ใช้และได้ขึ้นทะเบียน ประกอบกับยาฆ่าแมลงและส่วนผสมที่ห้ามใช้
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอินโดฯ จะมอบหมายให้คณะทำงานประเมินเอกสารและข้อมูล และอาจเดินทางไปยังประเทศผู้ยื่นใบสมัครเพื่อตรวจประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ หน่วยงานIAQA จะประกาศรายชื่อห้องปฏิบัติการที่ผ่านการตรวจประเมินและได้รับการขึ้นทะเบียน โดยมีระยะเวลาการอนุญาตครั้งละ 3 ปี
ทั้งนี้ กฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 04/2015 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป
ที่มา: สปษ.จาการ์ตา สรุปโดย:มกอช.