TH EN
A A A

ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในชิลีเลี่ยงการตรวจสอบการใช้สารปฏิชีวนะ

30 เมษายน 2558   

                เมื่อปี 2557 องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (Marine conservation organization ) และองค์การไม่แสวงหากำไร Oceana  ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีด้านความโปร่งใส (transparency council) เปิดเผยข้อมูลการใช้สารปฏิชีวนะ (Antibiotic use) ในฟาร์มเพาะเลี้ยงแซลม่อนของชิลี ซึ่งก่อนหน้านี้รายงานของ National Fishing Service  ได้เปิดเผยว่า ในปี 2556 ฟาร์มเพาะเลี้ยงแซลม่อนในชิลีมีปริมาณการใช้สารปฏิชีวนะ ถึง 450,700 กิโลกรัม แต่ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแซลม่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กลับพบปริมาณการใช้สารปฏิชีวนะเพียง 1,000 กิโลกรัม ทั้งนี้ทางคณะมนตรีด้านความโปร่งใส และหน่วยงานประมงแห่งชาติ ( The National Fishing Service ) ของชิลีได้ชี้แจงว่าฟาร์มเพาะเลี้ยงแซลม่อนกว่า 50 ฟาร์มได้ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลของจำนวนและประเภทสารปฏิชีวนะที่ใช้ เนื่องจากทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งทางการตลาดในการแข่งขันและความเสียหายต่อธุรกิจ
                ประธานกลุ่ม Oceana ในชิลีจึงได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบฟาร์มเพาะเลี้ยงแซลม่อนด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงลักษณะฟาร์มที่ปฏิบัติไม่ดีและทำเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตัวเองมากกว่าคำนึงถึงความปลอดภัยและผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
                ทั้งนี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้แจงว่าการใช้สารปฏิชีวนะที่มากเกินไป รวมทั้งการพัฒนายาต้านจุลชีพเพื่อนำมาใช้กับปลา ในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างรุนแรงได้ โดยสารปฏิชีวนะอาจสะสมในเนื้อปลา และกระตุ้นการดื้อยาของเชื้อก่อโรค อีกทั้งยังพบว่าการใช้สารปฏิชีวนะและสารเคมีอื่นๆ อาทิ ยาต้านปรสิต ( anti-parasitic treatments ) อาจส่งผลให้เกิดมลพิษและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลได้ นำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลในระยะยาว


ที่มา: Foodnavigator สรุปโดย: มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?