TH EN
A A A

คณะมนตรียุโรปและสภายุโรปเห็นชอบ delegated acts ภายใต้การปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วม (CAP)

11 มิถุนายน 2557   

                คณะมนตรียุโรปและสภายุโรปมีมติเห็นชอบกฎหมาย delegated acts ภายใต้การปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วม (CAP) โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

                 1. การปฏิรูปนโยบายเกษตรร่วม (CAP) ตามประกาศใน EU Official Journal เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 แบ่งออกเป็น กฎระเบียบพื้นฐาน (basic regulations) 4 ฉบับ และกฎระเบียบในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (transition rules) 1 ฉบับ ดังนี้

                    1) กฎระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรง (Regulation 1307/2013)
                    2) กฎระเบียบเกี่ยวกับองค์กรตลาดร่วมสินค้าเกษตร (Regulation 1308/2013)
                    3) กฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท (Regulation 1305/2013)
                    4) กฎระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การบริหารจัดการและการตรวจสอบ CAP (Regulation 1306/2013)
                    5) กฎระเบียบในช่วงเปลี่ยนผ่านเกี่ยวกับการใช้กฎระเบียบพื้นฐานทั้ง 4 ฉบับในปี 2557 (Regulation 1310/2013)

                ซึ่งตามมาตราที่ 290 ของสนธิสัญญาลิสบอนอนุญาตให้สภานิติบัญญัติ (สภายุโรปและคณะมนตรียุโรป) สามารถมอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฎหมายในส่วนที่ไม่ใช่องค์ประกอบหลักของกฎหมาย (non-esssential elements) และการแก้ไขนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกฎหมายหลัก (core legistrative) โดยเมื่อกฎหมายดังกล่าวผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยุโรปเรียบร้อยแล้วจึงจะเรียกกฎหมายนั้นว่า delegated acts จากนั้นสภายุโรปและคณะมนตรียุโรปจะพิจารณาว่าควรมีมติยั้บยั้งหรือเห็นชอบ delegated acts ที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอ และหากเห็นชอบจึงจะประกาศใช้ต่อไป

                 2. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2557 delegated acts ชุดแรกได้ผ่านมติเห็นชอบ ในเรื่องสำคัญดังนี้

                    1) การจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรง เช่น การอุดหนุนที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์สิ่งแวดล้อม (greening) การอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ (young farmers) การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมอยู่จริง (active farmers) เป็นต้น
                   2) การบริหารจัดการ ระบบควบคุม การปฏิเสธหรือยกเลิกการจ่ายเงิน รวมทั้งบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรง (direct payments) การพัฒนาชนบท (rural developments) และการจ่ายเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข (cross compliance)
                  3) ข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือด้านการจัดเก็บ (private storage aid)
                  4) ภาคผักและผลไม้ รวมทั้งผักและผลไม้แปรรูป
                  5) การสนับสนุนโครงการผักและผลไม้ในโรงเรียน
                  6) การสนับสนุนภาคการผลิตมะกอกและน้ำมันมะกอก
                  7) การสนับสนุนภาคการผลิตไวน์
                  8) กฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชนบท
                  9) กฎระเบียบเเกี่ยวกับหน่วยงานจ่ายเงินและหน่วยงานอื่นๆ การบริหารจัดการทางการเงิน การลบล้างบัญชี ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยและการใช้จ่ายเงิน
                10) ค่าใช้จ่ายสำหรับกลไกการแทรกแซงโดยภาครัฐ (public intervention expenditure)

                3. เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการเสนอในที่ประชุมคณะมนตรียุโรปและสภายุโรปเพื่อพิจารณาระยะเวลาการเริ่มต้นบังคับใช้ delegated acts ชุดแรก โดยมีมติให้สหภาพยุโรปบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นไป และในระหว่างนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการจัดเตรียม delegated acts ชุดที่สอง ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ฉบับใหม่ในการให้สิทธิเพาะปลูกองุ่นเพื่อทำไวน์ เพื่อนำมาใช้แทนกฎเกณฑ์เดิมตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป รวมถึงการกำหนดค่าตัวแปรถ่วงน้ำหนัก (weighting factor) เพื่อนำมาใช้คำนวณพื้นที่สำคัญทางนิเวศน์ (ecological focus area: EFA) เพื่อการปลูกพืชที่สามารถตรึงไนโตรเจน

                ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะสามารถลงมติ delegated acts ชุดที่สองเสร็จสิ้นประมาณเดือนตุลาคมปี 2557 โดยสภายุโรปและคณะมนตรียุโรปจะพิจารณารายละเอียดของ delegated acts ดังกล่าว ภายในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบจากทั้งคณะมนตรียุโรปและสภายุโรป จะทำการผ่านเป็นกฎหมายให้ประเทศสมาชิกนำไปบังคับใช้ต่อไป

 

ที่มา : ThaiEurope สรุปโดย : มกอช.

 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?