TH EN
A A A

ปลาทูน่ากระป๋องเตรียมรับมือ กลุ่มในอียูเริ่มต้านการเจรจาลดภาษีแล้ว

6 สิงหาคม 2550   
              ประธานกลุ่ม Eurothon ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พิทักษ์ผลประโยชน์อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องในยุโรปและในกลุ่มประเทศแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก (ACP) ประกาศในสภายุโรปเตือนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาลดภาษีปลาทูน่ากระป๋องในการเจรจารอบโดฮาว่าจะเปิดโอกาสให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยได้รับประโยชน์และจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อผู้ผลิตในยุโรปและ ACP
              เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 ประธานกลุ่ม Eurothon กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศ สภายุโรป เตือนถึงผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องของยุโรปและกลุ่มประเทศ ACP หากมีการลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง ภายใต้การเจรจาลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม (NAMA) ในการเจรจา WTO รอบโดฮา
ในการเจรจารอบโดฮานั้น ปลาทูน่ากระป๋องจัดอยู่ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการเจรจาลดภาษีได้สำเร็จก็จะทำให้สหภาพยุโรปต้องลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศอื่นๆ โดยในปัจจุบันนี้กลุ่มประเทศ ACP สามารถส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมายังสหภาพยุโรป โดยไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากใช้สิทธิ GSP ในขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยต้องเสียภาษี 24% ทั้งนี้ หากมีการเจรจาลดภาษีในกรอบ WTO ได้สำเร็จคาดว่าอัตราภาษีปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยจะอยู่ที่ประมาณ 7-9% ซึ่ง Eurothon เกรงว่าจะก่อให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากค่าแรงงานต่ำ สามารถเข้าถึงวัตถุดิบและการขนส่งทางเรือด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า และจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตสหภาพยุโรป และ ACP ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวนนับแสนคน โดยผู้ผลิตในเอเชียจะได้รับประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว และจะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องของโลก อีกทั้งยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการผลิตตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและการทำประมงที่ไม่ถูกกฎหมายอีกด้วย
กลุ่ม Eurothon เรียกร้องไม่ให้สหภาพยุโรปยกเลิกการเก็บภาษีปลาทูน่าทั้งในการเจรจา EU-ASEAN FTA และการเจรจาการค้าพหุภาคี ซึ่งจะทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น และส่งผลเสียหายต่อผู้ผลิตในยุโรปและ ACP โดยเรียกร้องให้ไม่รวมปลาทูน่ากระป๋องในการเจรจา NAMA และให้ยังคงเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศอื่น 24% ต่อไป ทั้งนี้ ประธานกลุ่ม Eurothon เห็นว่าสินค้าประมงควรได้รับการปฏิบัติในฐานะสินค้าอ่อนไหวทำนองเดียวกับสินค้าเกษตร
              ในปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาดปลาทูน่ากระป๋องในสหภาพยุโรปมาจากผู้ผลิตในสหภาพยุโรปครึ่งหนึ่ง เช่น สเปน อิตาลี โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษตามลำดับ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 2 ใน 3 มาจากประเทศ ACP 14 ประเทศ และ 1 ใน 3 มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ที่มา  :  คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?