เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ที่ประชุมใหญ่ของรัฐสภายุโรป (Plenary) ได้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ซึ่งได้เสนอขอบเขตการนิยาม nanomaterial รวมทั้งกำหนดให้สินค้าอาหารใดๆ ที่มีส่วนประกอบของ nanomaterial ต้องมีการระบุในฉลาก อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาฯ ไม่เห็นด้วยกับการที่ EC เสนอที่จะตัดสินค้าอาหารที่เติม nanomaterial ซึ่งวางจำหน่ายก่อนปี 2554 ออกจากข้อกำหนดเรื่องฉลาก โดยเห็นว่าผู้บริโภคควรมีสิทธิ์ในการรับทราบข้อมูลเพื่อตัดสินใจซื้อ
ทั้งนี้ คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภาฯ กลุ่ม ENVI ยังระบุว่าข้อเสนอของ EC ที่กำหนดระดับ (threshold) ในการระบุว่าสินค้าเข้าข่ายเป็น nano ที่ 50% ว่าสูงเกินไป และถือเป็นการไม่คำนึงถึงข้อเสนอของหน่วยงานความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (EFSA) ที่แนะนำให้ใช้ที่ 10% ในขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มยุโรป ได้ชี้ว่าผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น นมโฮโมจีไนส์ มีส่วนผสมของวัสดุนาโน ซึ่งหากต้องติดฉลากสินค้าเหล่านี้ทันทีโดยใช้ข้อความที่ไม่ได้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไป จะก่อให้เกิดความสับสนได้
nanomaterial หมายถึงวัสดุที่มีขนาดอย่างน้อยหนึ่งมิติเป็นขนาดนาโน หรือมีโครงสร้างของพื้นผิวหรือโพรงภายในอยู่ในระดับนาโน โดยอาจเป็นวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการผลิตด้วยกระบวนการทางนาโนเทคโนโลยี มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถออกฤทธิ์หรือทำปฏิกิริยาได้รวดเร็วเนื่องจากมีอัตราพื้นที่ผิวต่อน้ำหนักสูง ปัจจุบัน nanomaterial มีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หลายประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในบ้าน และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น อนุภาคนาโนของเงินในยาสีฟันและสารทำความสะอาด ซึ่งพบว่าอาจส่งผลอันตรายต่อเซลล์ตับและสมองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ในปัจจุบัน กฎระเบียบของสหภาพยุโรป ว่าด้วยการขึ้นทะเบียน การประเมิน การอนุญาต และการห้ามใช้สารเคมี (REACH) ไม่มีเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่อง nanomaterial แต่อย่างใด และการลงมติไม่เห็นชอบของรัฐสภายุโรป จะทำให้ EC ต้องถอนเรื่องดังกล่าวและยื่นข้อเสนอใหม่ในอนาคต
ที่มา : สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศฯ ณ กรุงบรัสเซลส์ สรุปโดย : มกอช.