TH EN
A A A

EU เพิ่มระดับการสุ่มตรวจการปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลล่าใบพลูจากไทย 10%

4 เมษายน 2557   

                เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศผลการพิจารณาแก้ไขมาตรการสุ่มตรวจครั้งที่ 15 ภายใต้ Regulation (EC) No 669/2009 ของกลุ่มประเทศที่สามที่ส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรปใน EU Official Journal โดยประกาศใน Commission Implementing Regulation (EC) No 882/2004 ซึ่งมีภาพรวมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้

                1. สุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างในผัก 2 กลุ่ม คือ ผักในกลุ่มมะเขือ และถั่วฝักยาว ทั้งในรูปของผักสด แช่เย็น และแช่แข็ง ที่ระดับ 20%
                2. สุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างในผัก 2 กลุ่ม คือ ผักชี และกะเพรา-โหระพา ในรูปของ ผักสด และแช่เย็น ที่ระดับ 10%
                3. สุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลล่าในผัก 3 กลุ่ม คือ ผักชี กะเพรา-โหระพา และสะระแหน่ ในรูปของผักสด และแช่เย็น ที่ระดับ 10%
                4. สุ่มตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างในพริก (สด) ที่ระดับ 10%และเพิ่มการสุ่มตรวจพริกแช่เย็น (Chilled) ด้วย
                5. เพิ่มสุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลล่าในใบพลู (Betel leaves, Piper betle L.)* ที่ระดับ 10%
                ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากการเพิ่มระดับสุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลล่าในใบพลูจากไทย EU ยังได้ออกมาตรการให้สุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลล่าในใบพลูจากอินเดีย สุ่มตรวจสารปฏิชีวนะคลอแรมเฟนิคอล ในเอนไซม์จากอินเดีย สุ่มตรวจสารอะฟลาทอกซินในถั่วและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วจากซูดาน, สารฆ่าแมลงในใบองุ่นจากตุรกี และยกเลิกการสุ่มตรวจอลูมิเนียมในเส้นก๋วยเตี๋ยวแห้งจากจีนด้วยแล้ว รวมทั้งได้กำหนดเอกสาร Common Entry Document (CED) ขึ้นใหม่ในภาคผนวก 2 (Annex II) ของระเบียบดังกล่าว
                สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ดังนี้ http://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?uri=uriserv:OJ.L_.2014.095.01.0012.01.ENG
                ทั้งนี้ กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลตามกฎหมาย 3 วันหลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศในวันที่ 29 มีนาคม 2557) และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 เป็นต้นไป

 

ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป สรุปโดย : มกอช.

 
 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?