เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยการปกป้องสวัสดิภาพไก่เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อสาระสำคัญ ดังนี้
1. ครอบคลุมไก่เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อ รวมทั้งฟาร์มเลี้ยงแบบผสมที่มีการเลี้ยงไก่พ่อ-แม่พันธุ์และการเลี้ยงทั่วไป ยกเว้น
1.1 โรงเลี้ยงที่มีการเลี้ยงไก่น้อยกว่า 500 ตัว
1.2 โรงเลี้ยงที่มีแต่ไก่พ่อ-แม่พันธุ์
1.3 โรงฟักไข่
1.4 การเลี้ยงในร่มแบบครัวเรือนและการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ
1.5 ไก่เลี้ยงแบบอินทรีย์
2. ข้อกำหนดทั่วไป : ทั้งนี้ประเทศสมาชิกที่จะปรับใช้มาตรการที่เข้มงวดกว่าข้อกำหนดในกฎระเบียบนี้ได้ รวมทั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบของแต่ละประเทศสมาชิกจะต้องสุ่มตรวจว่า ผู้เลี้ยงไก่ในประเทศของตนปฏิบัติถูกต้องและสอดคล้องกับกฎระเบียบ และรายงานคณะกรรมาธิการยุโรปภายในวันที่ 30 มิถุนายนของทุกๆ ปี ทั้งนี้ให้ประเทศสมาชิกเป็นผู้กำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยให้ส่งบทลงโทษให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปทราบภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2553
3. ข้อกำหนดในการเลี้ยงไก่ในโรงเลี้ยง : คือ
3.1 อุปกรณ์ให้น้ำดื่มจะต้องถูกจัดตั้งไว้ในที่ๆ ไม่ให้น้ำกระฉอกออกมาได้
3.2 การให้อาหารจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นการให้ต่อครั้ง โดยจะต้องไม่หยุดการให้อาหารมากกว่า 12 ชั่วโมงก่อนที่สัตว์จะถูกฆ่า
3.3 วัสดุรองพื้นในโรงเลี้ยงนั้นจะต้องแห้งและมีลักษณะกรอบและเปราะ
3.4 ระบบระบายอากาศจะต้องทำงานอย่างเหมาะสมเพื่อมิให้อากาศร้อนเกินไป และหากมีความจำเป็น ต้องใช้ร่วมกับเครื่องทำความร้อนเพื่อช่วยลดความชื้น
3.5 ระดับความดังของเสียงที่เกิดจากระบบระบายอากาศ เครื่องให้อาหาร หรืออุปกรณ์อื่นๆ จะต้องให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
3.6 โรงเลี้ยงจะต้องมีไฟส่องครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 80% ในระดับความแรงอย่างน้อย 20 lux ซึ่งอยู่ในระดับสายตาของไก่ที่มองเห็น ทั้งนี้ สามารถลดระดับความแรงของแสงลงได้ แต่ต้องได้รับการแนะนำจากสัตวแพทย์
3.7 ภายใน 7 วันภายหลังจากที่ไก่ถูกนำมาเลี้ยงไว้ในโรงเลี้ยง และภายในระยะเวลา 3 วันก่อนที่ไก่จะถูกฆ่านั้น ระบบไฟจะต้องเปิดไว้ 24 ชั่วโมง หากครอบคลุมช่วงเวลาไร้แสงได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง โดยอย่างน้อยจะต้องมีช่วงเวลาเปิดไฟอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หากไม่รวมช่วงเวลาที่มีการหรี่ไฟ
3.8 ไก่ทุกตัวในโรงเลี้ยงจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ทั้งสวัสดิภาพสัตว์ และ/หรือสุขอนามัยสัตว์
3.9 ไก่ที่บาดเจ็บหรือมีสุขภาพที่ผิดปกติ เช่น เดินลำบาก ท้องมาน หรือผิดปกติทางโครงสร้างร่างกายและอาการเจ็บปวดทรมาน จะต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือคัดออกในทันที ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสัตวแพทย์ที่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา
3.10 ตัวอาคารโรงเลี้ยง รวมทั้งส่วนต่างๆ ของโรงเลี้ยง อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่สัมผัสกับไก่จะต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างทั่วถึงทุกครั้งหลังจากการเลี้ยงไก่แต่ละรุ่นเสร็จสิ้นลง รวมทั้งก่อนที่จะนำไก่รุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยง ตลอดจนกำจัดวัสดุรองพื้นที่ใช้แล้วออกจากโรงเลี้ยง และเปลี่ยนวัสดุรองพื้นใหม่สำหรับไก่รุ่นใหม่ด้วย
3.11 เจ้าของโรงเลี้ยงหรือผู้เลี้ยงต้องจดบันทึก ดังต่อไปนี้
- จำนวนไก่ที่เลี้ยง
- พื้นที่ที่ใช้
- การผสมข้ามพันธุ์ และพันธุ์ไก่
- ปริมาณการตายและบ่งชี้สาเหตุของการตายนั้นๆ ตลอดจนระบุจำนวนไก่และสาเหตุที่ถูกคัดออก จำนวนไก่ที่เหลือในฝูงภายหลังจากที่ไก่บางส่วนส่งจำหน่ายหรือส่งโรงฆ่าแล้ว
บันทึกนี้จะต้องถูกเก็บรักษาไว้อย่างน้อย 3 ปี และส่งมอบให้แก่หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ทุกเมื่อที่มีการตรวจสอบ
3.12 การผ่าตัดเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาหรือวินิจฉัยโรคนั้น จะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือสูญเสียการรับความรู้สึกส่วนใดๆ ของร่างกาย หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกระดูก
อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้ผู้เลี้ยงตัดจะงอยปากของไก่ได้ ในกรณีที่ทางผู้เลี้ยงได้พยายามทุกวิถีทางแล้วที่จะป้องกันมิให้สัตว์จิกตีกันหรือกินเนื้อซึ่งกันและกัน แต่มิได้ผล การตัดจะงอยปากจะต้องทำกับไก่ที่มีอายุน้อยกว่า 10 วัน และอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ รวมถึงการอนุญาตให้ผู้เลี้ยงทำหมันให้แก่ไก่ตัวผู้ได้ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์และกระทำโดยผู้ที่ได้รับการฝึกหัดอย่างถูกต้องด้วย
3.13 อัตราความหนาแน่นสูงสุด กำหนดไว้ 33 กิโลกรัมต่อตารางเมตรต่อน้ำหนักตัวไก่ หากอนุโลมให้สำหรับผู้เลี้ยงที่ประสงค์ที่จะเลี้ยงไก่ในโรงเลี้ยงหนาแน่น กล่าวคือ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติม (ภาคผนวกที่ 2) หากจะต้องไม่เกินกว่า 39 กิโลกรัมต่อตารางเมตรต่อน้ำหนักตัวไก่
4. การติดฉลากสินค้าเนื้อสัตว์ปีก : ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจะยกร่างกฎระเบียบว่าด้วยการติดฉลากสินค้าเนื้อสัตว์ปีกที่ปฏิบัติไปตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี
5. ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน : ประเทศสมาชิกจะต้องปรับใช้มาตรการของกฎระเบียบนี้ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของตนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2553 นี้เป็นอย่างช้า
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำสหภาพยุโรป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์