สมาคมผู้บริโภคของรัฐปีนังได้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขและการเกษตรของมาเลเซียจัดตั้งระบบตรวจติดตามการใช้สารปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ ซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงรูปแบบการเก็บข้อมูลการใช้สารปฏิชีวนะในประเทศ โดยเพิ่มเติมการบันทึกข้อมูลในส่วนของปริมาณและกลุ่มของสารปฏิชีวนะตามชนิดของสัตว์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ความเสี่ยง การประมวลผลข้อมูลการเฝ้าระวัง ไปจนถึงการประเมินผลกระทบจากการส่งเสริมการใช้สารปฏิชีวนะอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ องค์กรดังกล่าวได้เรียกร้องภาครัฐให้ความสำคัญและตรวจติดตามปัญหาการดื้อยาของเชื้อก่อโรค ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับชาติ โดยจัดตั้งองค์กรหรือคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สัตวแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษา นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร ผู้บริโภค และสื่อมวลชน เพื่อรับมือกับปัญหาการดื้อยาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักต่อปัญหา การวิจัย การเก็บข้อมูล และการเสนอมาตรการในการจัดการที่เหมาะสม เช่น การกำหนดหลักการสำหรับกฎหมายสุขภาพสัตว์ฉบับใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสัตว์แพทย์เพื่อให้ลดการใช้สารปฏิชีวนะผิดวัตถุประสงค์ และการใช้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย
ปัญหาเชื้อก่อโรคปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สัตว์ของมาเลเซียถูกพบอย่างต่อเนื่อง จากผลการศึกษาของหน่วยงานบริการด้านสัตวแพทย์ในปี 2555 พบว่าไก่ที่เลี้ยงในประเทศจำนวนถึง 50% นั้นมีเชื้อก่อโรคที่ดื้อต่อสารปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ และเตตราซัยคลิน และสำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า พบว่ามีการดื้อยาทั้งแอมพิซิลลิน สเตรปโตมัยซิน และสารปฏิชีวนะอื่นๆ ในสัดส่วนตั้งแต่ 50-87% การที่เชื้อก่อโรคในอาหารสำคัญๆ เช่น ลิสเตอเรีย ซัลโมเนลลา และอีโคไล ดื้อต่อสารปฏิชีวนะ จะเป็นผลเสียต่อการควบคุมความปลอดภัยอาหารตั้งแต่ระดับโรงเลี้ยง อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูป จนถึงผู้บริโภคในระยะยาว
ที่มา : TheFishSite สรุปโดย : มกอช.