คณะกรรมาธิการยุโรปได้ยกเลิกระเบียบเดิมและออกระเบียบใหม่เกี่ยวกับการควบคุมเชื้อซัลโมเนลลาในไก่เนื้อในสหภาพยุโรป มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ดังนี้
โรงงงานเลี้ยงสัตว์ปีกต้องมีการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลลา 3 สัปดาห์ก่อนส่งสัตว์ปีกไปยังโรงฆ่า
หน่วยงานรับผิดชอบ (CA) ของประเทศสมาชิกจะต้องทำการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมเนลลาในสัตว์ปีก 10 % จากฝูงสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ทั้งหมดอย่างน้อยที่สุด 1 ครั้งต่อปี (ปรับใช้กับโรงเลี้ยงที่มีสัตว์ปีกเกินกว่า 5,000 ตัว)
โดยมีเป้าหมายเพื่อลดเชื้อ salmonella enteritidis และ salmonella typhimurium ในไก่เนื้อไม่ให้เกิน 1% ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 เนื่องจากเชื้อทั้งสองชนิดตรวจพบบ่อยที่สุด คือ 40% ในเนื้อไก่ที่มีการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา
สหภาพยุโรปมีนโยบายที่จะทำให้สหภาพยุโรปเป็นเขตปลอดเชื้อซัลโมเนลลา หรือ Salmonella Zero ภายในปี 2551 ภายใต้ข้อกำหนด Salmonella absence in 25 grams กล่าวคือ หากมีการสุ่มตรวจตัวอย่างเนื้อไก่ดิบจำนวน 25 กรัมจะต้องปลอดเชื้อซัลโมเนลลาโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2553 ดังนั้น ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสหภาพยุโรปควรเพิ่มความระมัดระวังการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ
ประจำสหภาพยุโรป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์