TH EN
A A A

จีน-มาเลย์เข้ม "กำมะถัน" ลำไย หวั่นสินค้าถูกตีกลับ...กระทบส่งออกลำไยในฤดู

16 สิงหาคม 2556   
                กรมวิชาการเกษตร จี้โรงรมลำไยภาคเหนือ ปฏิบัติตามหลัก GMP หลัง จีน-มาเลเซีย ส่งสัญญาณ ตรวจเข้มซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยสดส่งออก จากไทย กรมวิชาการเกษตร จี้โรงรมลำไยภาคเหนือปฏิบัติตามหลัก GMP
                นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ได้แจ้งเตือนว่า สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยสดที่นำเข้าจากไทยไปจนถึงเดือน ต.ค. 2556 เพื่อ เก็บข้อมูลการตรวจพบสารชนิดดังกล่าว ซึ่งจีนอาจออกมาตรการเข้มงวดการนำเข้าลำไยสดจากไทย หากตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยเกินค่ามาตรฐาน ตามที่พิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรฯ ไทยกับ AQSIQ กำหนดไว้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
                ขณะเดียวกันประเทศมาเลเซียยังมีการแจ้งเตือนการตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใน ลำไยที่ส่งออกจากไทยเกินค่ามาตรฐานที่มาเลเซียกำหนดไว้ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ด้วย จึงขอความร่วมมือโรงรมลำไย โรงคัดบรรจุ และผู้ส่งออกให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้า ทั้งยังต้องระวังในการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์รมลำไย เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าลำไยสดที่จะส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจเกิดปัญหาการถูกปฏิเสธสินค้าหรือตีกลับสินค้าได้ซึ่งจะกระทบต่อการ ส่งออกสินค้าลำไยของไทย
                ทั้งนี้ ลำไยสดเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพการส่งออกสูง โดยปีที่ผ่านมามีปริมาณการส่งออกลำไยสดรวม 455,663.38 ตัน มีมูลค่าถึง 8,454.01 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนม.ต.- มิ.ย. 2556 ไทยได้มีการส่งออกแล้วกว่า 184,775.72 ตัน มูลค่ากว่า 3,476.97 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งปีนี้กระทรวงเกษตรฯคาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตลำไยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นลำไยในฤดูออกสู่ตลาด ประมาณ 600,000 ตัน
                นายดำรงค์ กล่าวว่า จากรายงานเบื้องต้นพบว่า มีโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลำไยสดบางแห่งใช้สารรมเกินปริมาณที่กำหนด เพราะต้องการให้ลำไยผิวสวยและมีอายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น โดยไม่คำนึงถึงการตกค้างของสารพิษหลังการรม อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ร่วมกับสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรและสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัด เชียงใหม่ ลงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อตรวจติดตามประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงรมซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ลำไยสดที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) จำนวน 52 โรงรม พร้อมตรวจติดตามโรงคัดบรรจุลำไย และส่งเสริมให้โรงรมและโรงคัดบรรจุเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP เพิ่มมากขึ้น
                นอกจากนี้ ยังเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการโรงรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เน้น ให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลำไยสด ให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด
                "กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจติดตามห้องปฏิบัติการ(Lab) ทดสอบสินค้าเกษตรส่งออกที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรองในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข และยังสุ่มเก็บตัวอย่างลำไยสดมาตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบผลวิเคราะห์คุณภาพ สินค้าด้วย เพื่อควบคุมและป้องกันไม่เกิดปัญหาและอุปสรรคการนำเข้าที่ประเทศปลายทาง ซึ่งจะทำให้การค้าและส่งออกลำไยเกิดความคล่องตัวและนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น"นายดำรงกล่าว
 
 
 
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?