TH EN
A A A

EU กำหนดเกณฑ์ทางจุลชีววิทยาผักงอก-การสุ่มตรวจเชื้อ Salmonella ในเนื้อสัตว์ปีก

26 มีนาคม 2556   

               
สหภาพยุโรปประกาศกฎระเบียบ Commission Regulation (EU) No 209/2013 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 เพื่อกำหนดเกณฑ์ทางจุลชีววิทยาสำหรับผักงอก (sprouts) และวิธีการสุ่มตรวจหาเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนในซากสัตว์ปีก (poultry carcases) และเนื้อสัตว์ปีกสด (fresh poultry meat) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

                  1. จากวิกฤติการปนเปื้อนเชื้อ E. coli ในสหภาพยุโรป หน่วยงานความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (EFSA) ได้ประเมินความเสี่ยงของสินค้ากลุ่มเสี่ยงที่จะสามารถเกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย และพบว่าผักงอกเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเมล็ดในช่วงที่กำลังงอก เนื่องจากมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อ Salmonella และแบคทีเรียอื่นๆ ทั้งผักงอกยังนิยมบริโภคสด จึงจำเป็นจะต้องมีการควบคุมการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเป็นอย่างมาก EFSA จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องสุ่มตรวจตัวอย่างดังนี้

                       1.1 สุ่มตรวจผักงอกเพื่อหาเชื้อ E. coli สายพันธุ์ (strain) ที่มีการสร้างสารพิษ Shiga-toxin (STEC: Shiga Toxin producing Escherichia Coli) O157, O26, O111, O103, O145 และ O104:H4 โดยผักงอกปริมาณ 25 กรัม จะต้องไม่พบเชื้อดังกล่าว

                       1.2 สุ่มตรวจเมล็ดพันธุ์ (seeds) ก่อนการเพาะ และเมื่อตรวจเสร็จต้องนำเมล็ดพันธุ์ที่สุ่มตรวจไปเพาะในวิธีเดียวกันกับเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ในล็อตเดียวกัน และสุ่มตรวจหาเชื้อ STEC และ Salmonella ในช่วงที่มีความเสี่ยงของการปนเปื้อนมากที่สุด โดยจะต้องไม่ก่อน 48 ชั่วโมง หลังจากที่เริ่มเพาะเมล็ด โดยกำหนดให้สุ่มตรวจอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน หรือหากมีแผนควบคุมการสุ่มตัวอย่างที่ชัดเจน สามารถสุ่มตรวจน้ำชลประทานที่ใช้ในการเพาะแทนได้ แต่ต้องไม่พบเชื้อทั้งสองกลุ่มในน้ำชลประทานปริมาณ 200 มิลลิลิตรที่สุ่มตรวจ ทั้งนี้ หากมีหน่วยงานกำกับดูแลที่สามารรับรองการควบคุมความปลอดภัยอาหารที่ลดความเสี่ยงทางจุลชีววิทยาของโรงงานที่ผลิตผักงอก และสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ความปลอดภัยอาหารที่กำหนดไว้ในระยะเวลา 6 เดือน สหภาพยุโรปจะอนุโลมให้ไม่ต้องสุ่มตรวจเมล็ดพันธุ์ได้

                    2. กำหนดมาตรฐานการสุ่มตรวจ (sampling) เชื้อ Salmonella ในเนื้อสัตว์ปีก ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้

                        2.1 ให้โรงฆ่าสัตว์ต้องสุ่มตรวจซากสัตว์ปีกที่มีหนังบริเวณคอ เพื่อหาเชื้อ Salmonella โดยโรงงานตัดแต่ง โรงงานแปรรูป ที่รับเนื้อสัตว์ปีกมาจากโรงฆ่าอีกทอดหนึ่ง (ที่ไม่ได้เป็นโรงงานตัดแต่งหรือแปรรูปที่เชื่อมอยู่กับโรงฆ่า) จะต้องสุ่มตรวจหาเชื้อดังกล่าว โดยสามารถสุ่มได้จากซากสัตว์ปีกทั้งโครงที่มีหนังบริเวณคอ หรือเนื้อชิ้นที่มีหนังหรือไม่มีหนัง หรือมีหนังติดน้อย ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่มี

                        2.2 กำหนดให้มีการสุ่มตรวจหาเชื้อ Salmonella ในเนื้อสัตว์ปีกสด นอกเหนือไปจากซากสัตว์ปีก จำนวน 5 ตัวอย่าง ในปริมาณตัวอย่างละ 25 กรัมเป็นอย่างน้อยจากสินค้าชุดเดียวกัน โดยควรใช้ชิ้นส่วนที่มีเนื้อมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

                กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมาย 20 วัน หลังจากประกาศใน Official Journal และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป

                อนึ่ง สำหรับมาตรการสุ่มตรวจเชื้อ E. coli โดยเฉพาะสายพันธุ์ STEC ทั้ง 6 สายพันธุ์ กำลังมีการปรับปรุงกฎระเบียบในหลายประเทศเพื่อให้สินค้าเกษตรและอาหารที่บริโภคมีความปลอดภัย เช่น การประกาศร่างมาตรฐานการปนเปื้อนทางจุลชีววิทยาในอาหารของจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ผ่านช่องทางความตกลงว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชขององค์การการค้าโลก (SPS-WTO) ซึ่งกำหนดให้การสุ่มตัวอย่างเพื่อหาเชื้อ STEC ต้องไม่พบเชื้อใน 5 ตัวอย่างสุ่มตรวจของเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ที่ปริมาณตัวอย่างละ 25 กรัม เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการผลิตหรือส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารควรติดตามแนวโน้มของมาตรการด้านความปลอดภัยอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การควบคุมสินค้าที่ผลิตเป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละประเทศผู้นำเข้า

รายละเอียดเพิ่มเติมของกฎระเบียบ Commission Regulation (EU) No 209/2013 สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์
http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2013:068:0019:0023:EN:PDF

 
 
 
ที่มา : มกอช./สำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป
ณ กรุงบรัสเซลส์ (26 มี.ค.56)
 
 
 
 
 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?