นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Granada ในสเปน ตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสาร Environmental Research เผยผู้ที่ได้รับสาร DDT ซึ่งจะสลายตัวเป็น DDE ในร่างกาย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 มากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และดัชนีมวลกาย (BMI) แต่อย่างใด
DDT เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในกลุ่มสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน หรือ Persistent Organic Pollutants (POPs) ที่พบว่าสามารถสะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมันของมนุษย์ได้อย่างถาวร และอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อระบบภูมิคุ้มกันเมื่อสารกลุ่มดังกล่าวทำลาย Oestrogen Receptor ในเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญน้ำตาล
สารกลุ่ม POPs ภายใต้อนุสัญญาสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน มี 12 ชนิด ซึ่งพบในสารกำจัดศัตรูพืช ของเสียจากโรงงาน และวัสดุก่อสร้าง เช่น DDT PCB และไดออกซิน ที่มีความเป็นพิษสูง ตกค้างยาวนานหลายปีก่อนจะมีการเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบที่ไม่มีอันตราย รวมทั้งสามารถระเหยหรือเคลื่อนย้ายได้ไกลทั้งในอากาศและน้ำ
ที่มา : FoodNavigator (13 ก.พ.56)