นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้มีการปรับปรุงระบบการกำหนดค่ามาตรฐานสารตกค้างในอาหารรวมทั้งอาหารสำเร็จรูปตามระเบียบใหม่ โดยมีการกำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้พบได้ในอาหารหรือที่เรียกว่า ค่า MRLs ได้จำนวน 799 รายการเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้แล้ว 279 รายการ ซึ่งหลายรายการยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในองค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ โดยญี่ปุ่นจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไปไม่ว่าจะกับอาหารที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเองหรืออาหารนำเข้า
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ระเบียบใหม่จะมีผลบังคับใช้นี้ ญี่ปุ่นได้เริ่มสุ่มตัวอย่างสินค้าจากประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยเพื่อตรวจสอบสารตกค้างตามค่ามาตรฐานของระเบียบใหม่เพื่อประเมินสินค้าที่ควรเฝ้าระวังเมื่อระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ปรากฏว่าจากการสุ่มตรวจสินค้าพืชผักตามมาตรฐานใหม่ 1,600 ตัวอย่างตรวจพบปัญหาเกินมาตรฐานใหม่ 15 ตัวอย่าง โดยสารตกค้าง ที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยควรเข้มงวดการใช้และเฝ้าระวังเพื่อมิให้เจอปัญหาพบสารตกค้างเกินมาตรฐานใหม่ของญี่ปุ่นอันจะนำไปสู่การถูกปฏิเสธการนำเข้าในสินค้ารุ่นนั้นๆได้ ได้แก่ สารอีพีเอ็นในหน่อไม้ฝรั่งและกระเจี๊ยบเขียว สารไซเพอร์เมทรินในกล้วยหอม สารฟรูไมโอซาซิในพริกไทยอ่อน พบสารครอโรไพริฟอสในชะอม สารเอเมทรินและสารเอลาคลอร์ ในใบมะกรูด