TH EN
A A A

WTO ตัดสินให้ไทยและบราซิลชนะข้อพิพาทไก่หมักเกลือ

7 กรกฎาคม 2549   

               จากการที่สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการปกป้องสินค้าเนื้อสัตว์ปีกของตนเมื่อกลางปี 2546 โดยการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความของสินค้าเนื้อไก่ตัดแต่งไม่มีกระดูกแช่แข็ง (frozen boneless chicken cuts) ว่าหากสินค้าดังกล่าวมีเกลือเจือปนในอัตรา 1.2% - 1.9% จะถูกจัดอยู่ในหมวดสินค้าเนื้อไก่แช่แข็งภายใต้พิกัด 0207 ซึ่งจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 53% แทนที่จะอยู่ภายใต้พิกัด 0210 ซึ่งจัดเก็บภาษีนำเข้าเพียง 15% ดังที่เคยเป็น ซึ่งไทยและบราซิลมีความเห็นว่าเป็นการกีดกันทางการค้า จึงได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO)

               เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 ที่ประชุมคณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทประจำ WTO ได้ลงมติเห็นด้วยกับไทยและบราซิล ให้สินค้าเนื้อไก่ตัดแต่งไม่มีกระดูกแช่แข็งที่มีการปนเปื้อนของเกลือในอัตรา 1.2% -3% จัดอยู่ในสินค้าประเภทไก่หมักเกลือ ภายใต้พิกัด 0210 โดยเสียภาษีนำเข้าในอัตราเพียง 15% ซึ่งสหภาพยุโรปได้ยืนยันท่าทีไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของ WTO อย่างไรก็ดี คณะกรรมการอุทธรณ์ของ WTO ได้ตัดสินให้ไทยและบราซิลเป็นถูกต้อง และให้สหภาพยุโรปปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับคำจำกัดความของสินค้าเนื้อสัตว์หมักเกลือให้ถูกต้องตามคำตัดสินของ WTO

               สหภาพยุโรปจึงได้ออกกฎระเบียบ Commission Regulation (EC) No.949/2006 เพื่อแก้ไขคำจำกัดความให้พิกัด 0210 ครอบคลุมถึงสินค้าเนื้อสัตว์หมักเกลือในปริมาณตั้งแต่ 1.2% ว่า “สินค้าเนื้อสัตว์และเครื่องในของเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคหมักเกลือหรือในน้ำเกลือ” หมายความถึง “สินค้าเนื้อสัตว์และเครื่องในของเนื้อสัตว์ที่มีการผสมเกลืออย่างเป็นเนื้อเดียวกันในทุกส่วน และมีอัตราส่วนของเกลือต่อน้ำหนักในปริมาณร้อยละ 1.2 หรือมากกว่า” โดยระเบียบนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2549

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?