TH EN
A A A

อินโดยังคงต้องเฝ้าระวังการระบาดของไข้หวัดนก

4 มกราคม 2555   

               
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 Rita Kusriastuti ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคระบาดสัตว์ กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียกล่าวว่าอินโดนีเซียยังคงต้องเฝ้าระวังการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงสูง หรือ H5N1 ต่อไป แม้ว่าการติดเชื้อของโรคดังกล่าวลดลงก็ตาม เนื่องจากการเลี้ยงไก่ในระดับครัวเรือนซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของประชากรในประเทศมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก

                ตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าการระบาดจะสิ้นสุดลง ดังนั้นอินโดนีเซียจึงต้องเฝ้าระวังไข้หวัดนกและประกาศว่าอินโดนีเซียยังคงเป็นศูนย์กลางการระบาด เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีระบบจัดการที่ดีสำหรับการเลี้ยงไก่ในระดับครัวเรือน

                ผู้ผลิตไก่ในระดับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่นำมาตรการทางสุขอนามัยมาปรับใช้ เช่น การทำให้เล้าไก่ปลอดเชื้อ และการรักษาอนามัยส่วนบุคคลหลังจากสัมผัสไก่ แต่การเลี้ยงไก่ในระดับครัวเรือนมักรักษาสุขอนามัยได้ไม่เพียงพอ เช่น การทำให้เล้าไก่ปลอดเชื้ออย่างไม่เพียงพอ หรือตั้งเล้าไก่ไว้ใกล้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากเกินไป ซึ่งเป็นการทำให้มนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเป็นเรื่องยากในการห้ามเลี้ยงไก่ในระดับครัวเรือนเนื่องจากประชากรทั่วประเทศต้องพึ่งพาไก่ที่เลี้ยงเองเป็นแหล่งอาหาร
               ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WTO) ระบุว่าตั้งแต่ปี 2546 – 2554 ทั่วโลกมีการระบาดของไข้หวัดนก 566 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 332 ราย และเฉพาะอินโดนีเซียประเทศเดียวในช่วงดังกล่าวมีการระบาดของไข้หวัดนกจำนวน 179 ครั้งซึ่งเป็นการระบาดใน 13 จังหวัด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 147 ราย 

               ในปี 2546 อินโดนีเซียพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์เป็นครั้งแรก และในปี 2548 พบการติดเชื้อของไข้หวัดนกครั้งแรกในมนุษย์ การติดเชื้อในมนุษย์ดังกล่าวทำให้เกิดการลงนามในความตกลงการควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกระหว่าง อินโดนีเซีย สหรัฐฯ สิงคโปร์ ในเมืองปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเตรียมพร้อมในการรับมือการระบาดของไข้หวัดนกในภูมิภาค ความตกลงดังกล่าวมีระยะเวลา 4 ปีซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 

               ในปีนี้ อินโดนีเซียพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนกครั้งแรกในเดือนตุลาคม โดยผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 2 รายจากบังกลี นับจนถึงปัจจุบันนี้ มีการยืนยันพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์เพียง 9 ราย

 
 
 
ที่มา : The Jakarta Post (04/01/55)
 
 
 
 
 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?