หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคญี่ปุ่น (CAA) ได้พิจารณาระบบการติดฉลากโภชนาการอาหารเสร็จสิ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม CAA ยังไม่ได้พิจารณาเรื่อง กรดไขมันทรานส์ (Trans fatty acid) เนื่องจากคณะกรรมาธิการความปลอดภัยอาหารรายงานว่าปริมาณการบริโภคกรดไขมันทรานส์เฉลี่ยใน 1 วันของชาวญี่ปุ่น เท่ากับ 0.6 % ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ที่ 1 %
จากผลการสำรวจของ CAA เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่า 82 % ของอาหารแปรรูปมีการติดฉลากโภชนาการอาหารซึ่งเป็นการดำเนินการตามความสมัครใจ อาหารที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณทางโภชนาการ ส่วนประกอบทางโภชนาการจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการติดฉลากภายใต้ Health Promotion Act การติดฉลากโภชนาการอาหารในปัจจุบันนั้นไม่ได้กำหนดรูปแบบมาตรฐานของข้อมูลที่แสดงบนฉลาก ผู้ผลิตจึงสามารถเลือกว่าจะแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหารในลักษณะ ต่อหน่วยบริโภค ต่อบรรจุภัณฑ์ หรือ ต่อ 100 กรัมได้
อย่างไรก็ตาม รายงานการประชุม CAA เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 กำหนดให้ส่วนประกอบด้านโภชนาการอาหารที่แสดงบนฉลากต้องประกอบด้วย พลังงาน โซเดียม ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน ตามลำดับ พลังงานงานเป็นส่วนประกอบแรกที่ต้องแสดงบนฉลาก ส่วนโซเดียมเป็นลำดับที่ 2 เนื่องจากการบริโภคโซเดียมของชาวญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยใน 1 วัน สูงกว่าปริมาณเฉลี่ยทั่วโลก และของ WHO นอกจากนี้ รายงานแนะนำให้ CAA จัดทำระบบติดฉลากโภชนาการอาหารในรูปแบบที่ง่ายสำหรับอาหารแปรรูป และจะสรุปผลการหารือเกี่ยวกับฉลากโภชนาการอาหารใหม่ภายในเดือนมิถุนายน 2555
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว (
27 ธันวาคม 2554 )