TH EN
A A A

แนวโน้มการส่งออกอาหารทะเลเวียดนามปี 2554

17 พฤศจิกายน 2554   
               
แนวโน้มการส่งออกอาหารทะเลเวียดนามปี 2554 สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

                 1. สมาคมผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลของเวียดนาม (The Vietnam Association of Seafood Exporters and Producers: VASEP ) คาดการณ์ตัวเลขการส่งอาหารทะเลปี 2554 ไว้ว่าอาจมีแนวโน้มสูงถึง 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นและความต้องการซื้อสูงจากต่างประเทศ สำหรับตัวเลขการส่งออกในช่วงมกราคม – สิงหาคม 2554 มียอดส่งออกรวมทั้งหมดเกือบ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้น 24.4 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และอิตาลี เพิ่มขึ้น 42.7, 57.3 และ 45.1 ตามลำดับ
                     อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารทะเลของเวียดนามกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนวัตถุดิบในเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง (ปลา Tra) ประกอบกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นจากผู้แปรรูปอาหารทะเลภายในประเทศ น่าจะส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ (ปลา) ในปีนี้คงอยู่ในระดับสูงต่อไปหรืออาจมีผลต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2555 การที่ราคาสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการส่งออกปลาของเวียดนาม

                 2. จากการที่การเพาะเลี้ยงกุ้งของเวียดนามที่ต้องเผชิญปัญหาโรคระบาดนานหลายปี ทำให้ผลผลิตกุ้งกุลาดำของประเทศลดลง ฟาร์มเลี้ยงกุ้งจำนวนมากจึงได้หันมาเพาะเลี้ยงกุ้งขาว (white shrimp) แทน เนื่องจากแข็งแรง เลี้ยงง่ายและมีระยะเวลาเพาะเลี้ยงสั้นกว่ากุ้งกุลาดำ ทำให้สัดส่วนการส่งออกกุ้งเปลี่ยนแปลง โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกุ้งขาวอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 มาอยู่ที่ 200,000 ตัน ส่วนการส่งออกกุ้งกุลาดำมีแนวโน้มลดลงจาก 350,000 ตันในปี 2553 มาอยู่ที่ 300,000 ตันในปี 2554
                      จากการที่ราคากุ้งอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความต้องการซื้อที่รุนแรงจากตลาดต่างประเทศ และการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศผู้ผลิตที่สำคัญหลายแห่งได้รับความเสียหาย ส่งผลให้การส่งออกกุ้งของเวียดนามในช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราเติบโตสูง นอกจากนี้ การส่งออกกุ้งของเวียดนามอาจมีแนวโน้มดีขึ้นอีก เนื่องจากเมื่อต้นเดือนกันยายน 2554 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DOC) ประกาศผลการทบทวนภาษีทุ่มตลาด (AD) ครั้งที่ 5 ขั้นสุดท้ายสำหรับกุ้งที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเวียดนาม โดยจะปรับอัตราภาษี AD จากบริษัทผู้ส่งออกของเวียดนามได้แก่ Minh Phu, Nha Trang Seafood และ Camimex ลดลง และ ผู้ส่งออกอีก 28 รายของเวียดนามจะลดลงจาก 3.92 % เหลือ 1.04 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 12 กันยายน 2554 เป็นต้นไป (อัตราภาษี AD ดังกล่าวคำนวณจากกุ้งที่นำเข้าระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 52 – 31 ม.ค. 53) การปรับลดภาษี AD น่าจะส่งผลให้เวียดนามส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น

                 3. การส่งออกปลา Pangasius ไปยังตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32 % ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 เวียดนามส่งออกปลา Pangasius ไปยังตลาดสหภาพยุโรป รวมทั้งหมด 113,064 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปริมาณลดลง 9.7 % แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 6 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา) การส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากตรวจพบปัญหาสุขอนามัยหรือสารตกค้างในอาหารทะเลเวียดนามบ่อยครั้ง ทำให้ผู้นำเข้าของสหภาพยุโรปไม่มั่นใจหรือยกเลิกการนำเข้า ประกอบกับเศรษฐกิจภายในสหภาพยุโรปไม่ดีนักในปีนี้
                    การส่งออกปลา Pangasius ไปยังสหรัฐฯ กลับมีแนวโน้มสดใสมากกว่า โดยการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก มีปริมาณรวมทั้งหมดเกือบ 39,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 85.5 % และมีมูลค่าเพิ่ม 105.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกปลา Pangasius ไปยังสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจาก การเพาะเลี้ยงปลา catfish ในสหรัฐฯ มีผลผลิตลดลง อีกทั้งผู้เลี้ยงปลามีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ หันมานำเข้าปลา Pangasius จากเวียดนามเพิ่มขึ้นแทน
 
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป (17/11/54)

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?

ERROR MYSQL NO.:: 126