พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในฐานะเลขานุการโครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นสารพิษพลาสติก กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมการผลิตขวดนมพลาสติกสำหรับทารกและเด็กเล็กขึ้น เพื่อพิจารณาว่าควรออกแนวทางให้ผู้ประกอบการงดผลิตขวดนมจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต เนื่องจากพลาสติกดังกล่าวมีสารเคมี BPA ที่มีผลวิจัยจากทางยุโรปเมื่อประมาณปี 2551 โดยวิจัยในสัตว์ทดลองให้กินนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนตอย่างต่อเนื่อง พบว่าสารเคมีดังกล่าวปนเปื้อนมาในน้ำนมและมีผลในการไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง รวมถึงมีผลต่อการผลิตอสุจิได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลอง ทำให้ในประเทศแคนาดา สหภาพยุโรป จีน มาเลเซียและแอฟริกาใต้ ออกประกาศห้ามผลิตและจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนตไปแล้ว
พญ.รัชดากล่าวต่อไปว่า ในประเทศไทยพบว่ามีการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนตในท้องตลาดมากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สุ่มนำขวดนมที่วางจำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 30 ขวด มาทดสอบ ก็พบว่ามีสารเคมี BPA ปนเปื้อนในน้ำนมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยในตัวเด็กทารก เนื่องจากไทยยังขาดห้องแล็บที่สามารถทดลองในเรื่องนี้ได้ แต่ในเกาหลีและไต้หวันเคยทดลองวิจัยปัสสาวะของเด็กทารกที่ดื่มนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกชนิดนี้ พบว่ามีสารเคมี BPA ปนเปื้อนเช่นกัน ดังนั้น จึงอยากให้พ่อ แม่ เลือกซื้อขวดนมที่ผลิตจากพลาสติก โพลีพรอพพีลีน หรือ PP โดยสังเกตข้างขวดจะมีเขียนไว้ว่า BPA Free หรือ PP หรือสังเกตก้นขวดนมจะมีสัญลักษณ์ มีเลข 5 ตรงกลางและมีรูปลูกศรล้อมรอบ แต่หากเป็นขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต บริเวณก้นขวดจะมีสัญลักษณ์เลข 7 อยู่ตรงกลางและมีลูกศรล้อมรอบ
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาแล้ว พบว่า การควบคุมการผลิตขวดนม อย.ไม่มีอำนาจควบคุม จึงนำผลวิจัยที่เกี่ยวกับสาร BPA เสนอไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อพิจารณาแล้ว