อาเซียนผ่าทางตันปิดดีลเอฟทีเออาเซียน-อินเดียก่อนเส้นตายเดือน กค.นี้ เปิดทางอินเดียไม่ต้องลดภาษี 490 รายการใน FTA แต่มีเงื่อนไขต้องไม่เกิน 5% ของมูลค่านำเข้าของอินเดียกับรายประเทศอาเซียน พาณิชย์มั่นใจเจรจารอบใหม่ปลายเดือน เมย. หน้าคืบไปมาก
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาเซียนได้ดำเนินการเรียกร้องให้อินเดียเร่งหาข้อสรุปเรื่องการลดภาษีภายใต้การจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-อินเดีย ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว หลังจากการเจรจายืดเยื้อมาแล้วกว่า 3 ปี และใกล้จะครบกำหนดเส้นตายที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ประกาศในเดือน กค.2550 ศกนี้
ทั้งนี้ ผลการเจรจาล่าสุดที่อินโดนีเซียช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอาเซียนได้ประนีประนอมอย่างเต็มที่โดยยอมลดจำนวนสินค้าที่จะลดภาษีเป็น 0% ภายใต้เอฟทีเอเหลือเพียงกว่า 4,300 รายการ และยืดหยุ่นให้อินเดียสงวนสินค้า 490 รายการที่ไม่ต้องลดภาษีในเอฟทีเอ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่เกิน 5% ของมูลค่าการนำเข้าของอินเดียกับรายประเทศอาเซียน ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้อินเดียเปิดตลาดให้สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว อาหารแปรรูป ยางพารา สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย
อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงยืนยันท่าทีอย่างแข็งขันว่าไม่สามารถลดภาษีใดๆ ลงได้อีก รวมทั้งภาษีน้ำมันปาล์มที่มาเลเซียและอินโดยนีเซียเรียกร้องให้ลดต่ำกว่า 50-60% ของปีสุดท้ายที่มีการลดภาษี และยืนยันอีกว่าสินค้าไม่ลดภาษี 490 รายการที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5%ของมูลค่านำเข้าต้องคิดจากอาเซียนโดยรวมไม่ใช่คิดเป็นรายประเทศ
การเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อินเดียในครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่ประเทศอินเดียช่วงปลายเดือนนี้ โดยจะมีการหารือกันในประเด็นที่เป็นปัญหาคั่งค้าง ได้แก่ ขอให้อินเดียปรับลดรายการสินค้าสงวนลดภาษีลงจาก 490 รายการ หากอินเดียไม่ยอมปรับลดรายการสินค้า ก็ขอให้ปรับเงื่อนไขรายการสินค้าไม่ลดภาษีที่อินเดียกำหนดไม่เกิน 5% ของมูลค่าการนำเข้าของอินเดียกับทุกประเทศในอาเซียน เป็นไม่เกิน 5% ของมูลค่านำเข้าของอินเดียเป็นรายประเทศ
เนื่องจากที่ผ่านมาอินเดียมีการนำเข้าจากแต่ละประเทศไม่เท่ากัน และศักยภาพการส่งออกของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน ดังนั้นเกรงจะเกิดความลักหลั่นได้
นอกจากนี้จะเจรจาให้อินเดียลดภาษีนำเข้าในปีสุดท้ายในกลุ่มสินค้าที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอาเซียน
อาทิ ปาล์มน้ำมัน ชา กาแฟ เพื่อให้คงภาษีในอัตราต่ำที่สุดรวมถึงเจรจาในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าที่แม้จะมีการตกลงเกณฑ์ทั่วไปได้แล้วแต่กฎแหล่งกำเนิดเฉพาะสินค้าบางรายการยังไม่ได้มีการพูดคุยกันมากซึ่งจะได้หารือกันต่อไป
อ้างอิงจาก : ฐานเศรษฐกิจ