กฎระเบียบใหม่นี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ของสหภาพยุโรป
โดยกำหนดมาตรฐานของวิธีการสุ่มตรวจและวิธีการสุ่มตรวจและวิธีการตรวจวิเคราะห์ในการตรวจสอบการปนเปื้อนสารตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ดีบุก 3-MCPD และเบนโซ(เอ)ไพรีนตกค้างในอาหาร เพื่อเป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องและสอดคล้องกับกฎระเบียบ และเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงมิให้ปริมาณของสารที่ตกค้างอยู่ในอาหารสูงเกินกว่าค่าสารตกค้างสูงสุดที่มีได้ (MRLs)
กฎระเบียบดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในทุกประเทศสมาชิก EU-25 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป
แม้ว่าที่ผ่านมาในปี 2548-2550 สหภาพยุโรปจะยังคงไม่เคยตรวจพบสารตะกั่ว ปรอทและดีบุกในสินค้าอาหารที่ส่งออกจากไทย หากในปี 2548 เคยตรวจพบสารแคดเมียม 3 ครั้งในเห็ดอบแห้งและปลานิลแช่แข็ง และพบสาร 3-MCPD 2 ครั้งในน้ำปลาและซอสถั่วเหลือง ในปี 2549 เคยตรวจพบสารแคดเมียม 4 ครั้งในปลาหมึกกระป๋อง และตรวจพบสารเบนโซ(เอ)ไพรีน 4 ครั้งในปลาสวายรมควันและในปี 2550 ตรวจพบสารแคดเมียม 1 ครั้งในปลาหมึกแช่แข็ง และตรวจพบสารเบนโซ(เอ)ไพรีน 2 ครั้งในปลาดุกรมควันและปลาสวายรมควัน ดังนั้น
ไทยจึงควรเพิ่มความระมัดระวังของการปนเปื้อนของสารทั้ง 3 รายการด้วย
อ้างอิงจาก : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป