ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2554 กรมศุลกากรอินโดนีเซียได้กักกันและยึดสินค้าประมงแปรรูปของไทยและต่างประเทศ ที่ท่าเรือ Tanjung Priok เมืองจาการ์ตา โดยสินค้าไทย ได้แก่ ปลากะตักแห้ง 15 ตู้ และสินค้าสัตว์น้ำสด ได้แก่ ปลาทู ปลาอินทรีย์ (Mackerel) ปลาทูน่า ปลากะตัก ปลาโอขนาดเล็ก (Tongkol Skipjack) รวมทั้งสัตว์น้ำแปรรูปในเบื้องต้น เช่น ปลาหมึกเกลือชนิดต่างๆ จากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม อีก 5,300 ตัน หรือประมาณ 200 ตู้ ถูกกักไว้ที่ท่าเรือ 5 แห่ง และท่าอากาศยาน 1 แห่ง และได้ตั้งข้อหาว่าบริษัทผู้นำเข้า 9-13 บริษัท ไม่มีใบอนุญาตการนำเข้า และไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎระเบียบของกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงเลขที่ 17/2010 สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และแจ้งให้ทราบ โดยสรุปดังนี้
1. ผู้นำเข้าสัตว์น้ำสดและแปรรูปต้องเป็นผู้นำเข้าที่จดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าทั่วไป (API-U) หรือเป็นผู้นำเข้าที่เป็นผู้ผลิต (API-P) ซึ่งจะมีหมายเลขทะเบียนประจำตัวผู้นำเข้าแต่ละราย ซึ่งออกโดยกระทรวงการค้าอินโดนีเซียเป็นผู้จดทะเบียนอนุญาตให้ นอกจากนี้ยังต้องมีใบอนุญาตประกอบการอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (Certification of Processing Worthiness -SKP) หนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัด (Recommendation from Provincial Office)
2. สัตว์น้ำที่นำเข้ามาได้ตามกฎระเบียบจะต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบในเรื่องการควบคุมคุณภาพสัตว์น้ำ และความปลอดภัยสัตว์น้ำ โดยเฉพาะผู้นำเข้าที่เป็นผู้ผลิตต้องมีโรงงานที่ผ่าน HACCP จึงจะนำเข้ามาเพื่อแปรรูปได้
3. Mr. Victor Nikkijuluw ผู้อำนวยการทั่วไปของฝ่ายแปรรูปและการตลาดของสินค้าประมง ให้สัมภาษณ์ว่า ใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำนั้น มีนโยบายอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะสัตว์น้ำที่ไม่สามารถผลิตได้ในน่านน้ำของอินโดนีเซียเท่านั้น เช่น แซลมอน Hokie Cili Hamachi แต่ผู้นำเข้าได้นำเข้าสัตว์น้ำที่อินโดนีเซียผลิตได้รวมทั้งยังมิได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วย ดังนั้น จึงต้องจับกุมและยึดตู้สินค้า
4. ผู้นำเข้าสัตว์น้ำอินโดนีเซียให้ความเห็น ดังนี้
4.1 สัตว์น้ำแปรรูป โดยเฉพาะปลากะตักแห้ง ได้มีการนำเข้าจากไทยตั้งแต่กฎระเบียบมีผลบังคับใช้ โดยมีผู้นำเข้ามีใบอนุญาตถูกต้อง แต่ทางอินโดนีเซียแจ้งว่าปลาดังกล่าวอินโดนีเซียสามารถผลิตเองได้ แต่เมื่อสั่งซื้อปลาจากผู้ค้าในชวาตะวันออก พบว่ามีคุณภาพต่ำมากจากเกรด A เป็นเกรด C ดังนั้นจึงต้องนำเข้าจากไทยที่มีคุณภาพดีกว่า และสม่ำเสมอ
4.2 ราคาสัตว์น้ำสดและแปรรูปของอินโดนีเซียมีราคาสูงกว่าสัตว์น้ำที่นำเข้าจากไทย เช่น ปลาทู-ปลาอินทรีย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศราคา 4,000-5,000 รูเปียต่อกิโลกรัม ในขณะที่ปลาดังกล่าวที่จับโดยชาวประมงอินโดนีเซียมีราคา 14,000-15,000 รูเปียต่อกิโลกรัม เนื่องจากผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอด