TH EN
A A A

อย.ตรวจพบ"ผักอูโดะ"หิ้วจากญี่ปุ่น ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ดีเดย์ 1 เม.ย.ออกตรวจห้าง-ภัตตาคารญี่ปุ่น

4 เมษายน 2554   

                เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมการนำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์จากประเทศญี่ปุ่นว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุ่มตรวจอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว 122 ตัวอย่าง รู้ผลการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแล้ว 103 ตัวอย่าง  ปรากฏว่าปกติ ไร้การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ยกเว้น มันเทศจำนวน 75 กิโลกรัม จากจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ตรวจพบสารไอโอดีน 131 ปนเปื้อนอยู่ 15.25 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม แม้ไม่เกินเกณฑ์การปนเปื้อนขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศกำหนด แต่ได้ยึดอายัดไว้และเตรียมทำลายแล้ว ส่วนปลาสคริปแจ๊ค ทูน่า จำนวน 21 ตัน จากเมืองโยโกฮาม่า ที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างและส่งตรวจหาสารกัมมันตรังสีกับทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไม่พบมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 

                "หลังจากนี้ การนำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์ จากญี่ปุ่นทุกชนิด ซึ่งขณะนี้ได้สุ่มตรวจอาหารทะเล และตรวจผัก, ผลไม้ทุกรายการ จะต้องตรวจหาสารซีเซียม 134 ที่ต้องมีค่าปนเปื้อนไม่เกิน 50 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม  และสารไอโอดีน 131 ไม่เกิน 100 เบคเคลเรลต่อกิโลกรัม นอกจากนี้  อย.ยังจะขยายการตรวจกลุ่มอาหารเพิ่มทุกรายการจากญี่ปุ่น ได้แก่ พืชหัว , นม และผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะที่มาจากเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่นด้วย" นายจุรินทร์กล่าว
 
                นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554  อย.ได้ตรวจนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้ซื้อผักอูโดะ (Udo-เป็นผักขึ้นตามภูเขาในประเทศญี่ปุ่นนิยมมาชุบแป้งทอดทำเทมปุระ) กลับมารับประทาน จำนวน 1 กิโลกรัม ผลการตรวจพบสารไอโอดีน -131 ปริมาณ 12.92 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม -134 ปริมาณ 3.50 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม และซีเซียม -137 ปริมาณ 5.12 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม แม้ว่าสารทั้ง 3 ชนิดจะไม่ได้เกินค่ามาตรฐาน แต่ได้อายัดทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จากนี้จะหารือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในการนำไปศึกษาหรือทำลายทิ้งต่อไป อีกทั้ง พบว่านักท่องเที่ยวรายนี้ได้หิ้วผักฟูกิเข้ามาด้วยแต่ไม่พบการปนเปื้อน จึงอยากขอให้ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นงดนำเข้าผัก ผลไม้โดยเฉพาะในแบบที่หิ้วเข้ามาเอง จนกว่าสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่นจะกลับสู่ภาวะปกติ เพราะอาจเสี่ยงการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

 
 
 
ที่มา : มติชน
 
 
 
 
 
 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?