TH EN
A A A

กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ของโครงการ GSP สหภาพยุโรป

2 กุมภาพันธ์ 2554   
               GSP หรือคำเต็ม คือ Generalized System of Preferences หมายถึง ระบบการให้สิทธิ พิเศษทางภาษีศุลกากร
               เป็นการทั่วไปที่ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา แต่สินค้าที่จะได้รับสิทธิจะต้องผลิตจากประเทศที่ได้รับสิทธิ กฎเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาตัดสินว่าสินค้าใดผลิตจากประเทศใด คือ กฎที่เรียกว่า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปของแต่ละประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิ
 สหภาพยุโรปก็เป็นกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิGSP แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา มาตั้งปี 2514 และต่ออายุโครงการ GSP มาตลอดเป็นช่วงๆ ล่าสุดได้ ออกข้อกำหนด ที่ 732/2008 ต่ออายุโครงการออกไปอีกสามปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 สิทธิ GSP ของสหภาพยุโรปที่ได้รับการต่ออายุ แบ่งสิทธิเป็นสามประเภท ประเภทที่หนึ่ง คือ สิทธิ GSP มาตรฐาน มีประเทศกำลังพัฒนาได้รับสิทธิรวม 176 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ประเภทที่สอง คือ สิทธิพิเศษให้เป็นการเฉพาะเพื่อกระตุ้นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีธรรมาภิบาล ที่เรียกว่าGSP + ประเภทที่สาม เป็นสิทธิพิเศษที่ให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยสุดที่เรียกกันว่า Every thing But Arms  (EBA) เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้สามารถส่งสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธ เข้าสหภาพยุโรปได้อย่างเสรีปราศจากภาษีและข้อจำกัดการนำเข้า        
               สินค้านำเข้าที่จะได้รับสิทธิพิเศษจากสหภาพยุโรปต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศที่ได้รับสิทธิถูกต้องตาม กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าตาม ข้อกำหนดที่ 2454/93 ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่า เป็นกฎที่เก่าล้าสมัยสลับซับซ้อนยุ่งยาก และเข้มงวดเกินไป ทำให้เป็นการยากที่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดจะปฏิบัติได้ จึงได้แก้ไขปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าดังกล่าวโดยออกประกาศข้อกำหนดที่ 1063/2510 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 โดยปรากฏเจตนารมณ์ของการแก้ไขปรับปรุงตามที่ปรากฏในอารัมภบทของข้อกำหนดดังกล่าวสรุปที่สำคัญบางประเด็น คือ เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ใช้อยู่เดิมให้มีความง่ายขึ้น และมีความเป็นมิตรกับผู้ปฏิบัติมากขึ้น กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าที่ผลิตในประเทศที่ได้รับสิทธิที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าให้เหลือเพียงหลักเกณฑ์เดียวสำหรับสินค้าทุกประเภท นั่นคือ ใช้เกณฑ์การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เป็นพื้นฐานการพิจารณาสำหรับสินค้าที่ผ่านการแปรสภาพอย่างเพียงพอขั้นต่ำมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้เกณฑ์การเพิ่มมูลค่าของสินค้าเพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่เหมาะสมกับสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าเกษตร  ผลิตภัณฑ์ประมง สารเคมี สิ่งทอและเสื้อผ้า ก็เปิดช่องให้มีการใช้เกณฑ์ที่เป็นทางเลือก คือ เกณฑ์กำหนดอัตราสูงสุดในการใช้วัตถุที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิด การเปลี่ยนพิกัดของผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์บางจำพวก  
กฎ ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่สำคัญๆ โดยสรุป คือ 
               - แก้ไขคำนิยามในการพิจารณาสัญชาติของเรือที่จับและแปรรูปสินค้าประมง ที่จะถือว่าสินค้าประมงที่จับได้และแปรรูปในเรือนั้นมีแหล่งกำเนิด (Wholly obtained) ในประเทศที่เป็นสัญชาติของเรือนั้น ให้ยุ่งยากน้อยลง
               - กฎเดิมที่กำหนดว่าสินค้าที่จะได้รับสิทธิพิเศษจะต้องแสดงหลักฐานว่าส่งตรงมายังสหภาพยุโรป ซึ่งมีความยุ่งยาก ก็ตัดออก แต่ทั้งนี้ สินค้านั้นจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง  
               - เพิ่มกลุ่มประเทศที่สามารถใช้แหล่งกำเนิดสะสมขึ้นอีกหนึ่งกลุ่ม และให้ใช้ข้ามกลุ่มได้สำหรับบางกลุ่มขึ้น      
               คำว่าแหล่งกำเนิดสินค้าสะสม (Cumulation of origin) หมายถึง การที่ประเทศส่งออกสามารถใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอื่นหรือกลุ่มประเทศอื่นผลิตสินค้า เสมือนว่าเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ไม่ถือว่าเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนนำเข้า มีดังนี้
                ๐ แหล่งกำเนิดสินค้าสะสมทวิภาคี (Bilateral cumulation) คือ การใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
                ๐ แหล่งกำเนิดสินค้าสะสม กับนอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี คือ การใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศดังกล่าว     
                ๐ แหล่งกำเนิดสินค้าสะสมระดับภูมิภาค (Regional comulation) คือ สามารถใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศสมาชิกในกลุ่มภูมิภาคนั้นได้ ซึ่งมีสี่กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง คือ อาเซียน กลุ่มที่สอง กลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ เช่น โบลิเวีย โคลัมเบีย กลุ่มที่สาม กลุ่มเอเชียตะวันออก บังกลาเทศ  อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา มัลดีฟส์ กลุ่มที่สี่ ประเทศในอเมริกาใต้อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น อาร์เจนตินา บราซิล ทั้งนี้ ระหว่างกลุ่มที่หนึ่งและที่สามสามารถใช้ข้ามกลุ่มกันได้โดยทำเรื่องขอต่อสหภาพยุโรป      
               ๐ แหล่งกำเนิดสินค้าสะสมส่วนขยาย (Extended cumulation) เป็นแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมที่กำหนดขึ้นใหม่ คือ สามารถใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกของความตกลงเขตการค้าเสรีที่ทำกับสหภาพยุโรป โดยต้องทำเรื่องร้องขอต่อสหภาพยุโรปและเฉพาะสินค้าบางรายการตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
               -  เปลี่ยนแปลงระบบการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่เดิมกำหนดให้มีหนังสือรับรองที่ออกโดยทางการไปแสดงในการนำเข้า เปลี่ยนมาใช้ระบบการจดทะเบียนผู้ส่งออก ให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องมีความรับผิดชอบด้วยกัน ด้วยการยกเลิกระบบการออกหนังสือรับรองและให้ผู้ส่งออกที่จดทะเบียนเป็นผู้ออกเอกสารสำแดงแหล่งกำเนิด ส่วนเจ้าหน้าที่ของทางการประเทศผู้ส่งออกที่เป็นผู้เคยออกหนังสือรับรองก็ให้ไปเน้นการตรวจสอบหลังจากการส่งออก ระบบนี้จะเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 สำหรับประเทศที่ยังไม่พร้อมสามารถขอขยายเวลาไปเริ่มใช้ช้าสุดคือ 1 มกราคม 2563 
               -  การพิจารณาแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่ผลิตจากวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ไม่ใช่สินค้าที่ทั้งหมดได้จากประเทศนั้น (wholly obtained) เป็นไปตามตาราง ภาคผนวก 13a โดยมีกฎเกณฑ์การพิจารณา สี่หลักเกณฑ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ คือ
                ๐  การผลิตหรือการแปรสภาพที่ใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิด (non-originating materials) ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนด
                ๐ การผลิตหรือแปรสภาพจนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนนั้นเปลี่ยนจากพิกัดศุลกากรสี่หลักหรือหกหลักแล้วแต่กรณีไปเป็นพิกัดศุลกากรพิกัดใหม่
                ๐ การผลิตหรือแปรสภาพตามที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
                ๐ การผลิตหรือแปรสภาพจากสินค้าบางรายการที่เป็นสินค้าที่ทั้งหมดได้จากประเทศนั้น (wholly obtained)
               การกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับสินค้า จะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับสินค้าแต่ละประเภทในช่องที่สามของตาราง บางรายการก็แยกของกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยสุดไว้ต่างหาก ซึ่งจะมีขั้นตอนการผลิตที่ผ่อนคลายมากกว่า และยุ่งยากน้อยกว่าของประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น การผลิตเครื่องนุ่งห่มใช้เพียงขั้นตอนเดียว คือ ผลิตจากผ้าผืนก็ใช้ได้ 
              สำหรับของประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับสิทธิ GSP มาตรฐาน พิจารณาโดยภาพรวม ก็ผ่อนคลายมากขึ้นจากกฎเดิม บางรายการสินค้าสามารถใช้วัตถุดิบที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิดเพิ่มมากขึ้นถึง ร้อยละ 70 สินค้าบางรายการก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้กฎเปอร์เซ็นต์การใช้ชิ้นส่วน หรือการเปลี่ยนพิกัดก็ได้
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 
 
 
 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?